ภาษาอังกฤษกับความเป็นพลเมืองสิงคโปร์ที่ดี

พศุตม์ ลาศุขะ

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยือนประเทศสิงคโปร์อีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ได้ไปเดินเล่นสังเกตุการณ์คุยกับผู้คนทั่วไปอย่างที่เคยทำ แต่ไปใช้ชีวิตอยู่ในหอจดหมายเหตุ หรือ Singapore National Archive เพื่อค้นหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับงานวิจัยที่ตนเองทำอยู่ วันนี้ผู้เขียนจึงจะมาขอเล่าอะไร “มันส์ๆ” เกี่ยวกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์บางชิ้นที่ได้ไปค้นพบในหอจดหมายเหตุซึ่งเกี่ยวกับเรื่องการประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักและความเป็นพลเมืองของประเทศสิงคโปร์ในช่วงสร้างชาติ

 

หากใครที่ทำเคยทำงานเชิงประวัติศาสตร์หรือมีเพื่อนเป็นนักประวัติศาสตร์ ก็คงจะทราบดีว่าการไปหอจดหมายเหตุนั้น สำคัญและมีส่วนช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจอดีตและพัฒนาการของสังคมอย่างไร กล่าวคือ ในหอจดหมายเหตุ เอกสารทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบขอจดหมายทางการที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ บันทึกต่างๆของบุคคลสำคัญ หรือหลักฐานในรูปแบบอื่นๆไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย โปสเตอร์ บันทึกสัมภาษณ์ต่างๆ ก็จะถูกเก็บไว้ในสถานที่แห่งนี้ (แน่นอนที่สุด ในการเก็บนั้น หอจดหมายเหตุแต่ละที่ก็จะมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันไป แต่เราจะไม่พูดถึงเรื่องนี้ในที่นี้)

 

ครั้งนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสไปหอจดหมายเหตุแห่งชาติสิงคโปร์ เพื่อไปค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการช่วงเวลาแห่งสร้างชาติสิงคโปร์และพัฒนาการความเป็นพลเมือง ในช่วงภายหลังจากที่สิงคโปร์แยกตัวเองออกจากมาเลเซียไม่นาน และจากหลักฐานบางอย่าง ทำให้ผู้เขียนได้เข้าใจมากขึ้นว่าความเป็นเป็นพลเมืองของสิงคโปร์ที่เราเห็นในปัจจุบันว่ามีลักษณะที่ “เป็นระเบียบ” มีสำนึกในความเป็น“พลเมืองของโลก” (global citizen) พัฒนาขึ้นมาได้ ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักของชาติ

 

หลังจากอดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวน ยู ได้ ปรากฏต่อสาธารณะชนหน้าโทรทัศน์ และวิทยุในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.1965เพื่อประกาศว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่เป็นอิสระจากมาเลเซีย ไม่นานรัฐบาลก็ได้ทำให้ภาษาอังกฤษกลายเป็นหนึ่งในภาษาหลักที่จะใช้ในการติดต่อสื่อสารราชการและค้าขาย โดยที่รัฐบาลได้ทำการบรรจุการบังคับใช้นี้ลงไปในรัฐธรรมนูญของประเทศ แน่นอนที่สุดการประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้ชาวสิงคโปร์ “พูดภาษาอังกฤษเก่ง”ดังที่หลายๆคนเข้าใจ ก่อนหน้าการประกาศอิสรภาพประชาชนที่อาศัยอยู่บนเกาะสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อสายมาเลย์ หรือจีน หรืออินเดีย รวมไปถึงผู้ที่เดินทางมาทำธุรกิจค้าขายบนเกาะแห่งนี้ ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในการติดต่อสื่อสารข้ามกลุ่มชาติพันธุ์มานาซักพักหนึ่งแล้ว แต่การประกาศลงไปในรัฐธรรมนูญนั้น สำคัญตรงที่ว่ามันเป็นหมุดหมายที่บ่งบอกถึงความพยายามของรัฐที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง เพื่อให้ประเทศได้ “ก้าวไปข้างหน้า” (สโลแกนที่มักจะได้ยินจากผู้นำประเทศบ่อยๆ) ไปด้วยกันในฐานะความเป็นรัฐชาติที่มีอิสระในการเมืองการปกครอง และเศรษฐกิจ และในการจะพาชาวสิงคโปร์ ที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ให้ “ก้าวไปข้างหน้า” พร้อมๆกัน รัฐบาลได้ลงทุนและสรรหาวิธีอันหลากหลายที่จะมาผลักดันให้ชาวสิงคโปร์นั้นพูดภาษาอังกฤษได้ การศึกษาในระดับ

 

ในระหว่างที่ผู้เขียนกำลังตื่นตาตื่นใจกับความทันสมัยและสะดวกสบายของระบบดิจิตอลของหอจดหมายเหตุแห่งชาติสิงคโปร์ (แบบกดค้นหาในคอมพิวเตอร์ แล้วแทบจะทุกอย่างสามารถเปิดดูได้ทันที) ผู้เขียนก็ได้ไปเจอรายการโทรทัศน์ชื่อ Let’s Speak English ที่ข้อมูลจากหอจดหมายเหตุบอกว่ารายการเหล่านี้ถูกใช้ในห้องเรียนในโรงเรียนมัธยมในสิงคโปร์หลายๆแห่งเพื่อสอนภาษาอังกฤษให้ประชาชนจากหลากชาติพันธุ์สามารถมีภาษากลางสื่อสารกันได้

 

หากมองแบบผิวเผิน รายการ Let’s Speak English ก็ไม่ค่อยจะแตกต่างอะไรไปจากวีดีโอที่ใช้สอนภาษาอังกฤษในสถาบันภาษาต่างๆ โดยที่ในแต่ละตอนของรายการจะมีเนื้อหา หรือ ตีม “Theme” ที่แตกต่างกันไปตามบริบท จากเรื่องใกล้ตัวภายในบ้าน ไปจนถึงนอกบ้าน โดยในแต่ละตอนก็จะมีการแทรกทั้งคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ และโครงสร้างทางไวยกรณ์ที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ฟังได้ฝึกหัดพูดเลียนแบบ อย่างไรก็ดีสิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกได้จากการนั่งดูวีดีโอของรายการ Let’s Speak English เหล่านี้ มันมีนอกเหนือไปจากการสอนให้พูดภาษาอังกฤษได้ แต่มันรวมไปถึงการแทรกความเป็น “พลเมืองโลก” หรือความเป็นพลเมืองที่ดีในระดับสากลลงไปด้วย

 

ในตอนที่ชื่อว่า“วันอาทิตย์กับครอบครัวลิม” (Sunday With the Lim’s ออกฉายเมื่อวันที่ 10 มกราคม ค.ศ. 1969) ผู้เรียนได้ติดตามสมาชิกของครอบครัวลิม ที่มี พ่อ แม่ และ พี่น้องทั้งชายและหญิงทำกิจกรรมกันตอนเช้า และตอนสายของวันอาทิตย์ ในตอนดังกล่าวคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่รายการใช้สอน ก็เป็นคำศัพท์ที่เกี่ยวกับกิจกรรมยามว่างวันหยุด เช่น อ่านหนังสือพิมพ์ (newspapers) อาหารเช้า (breakfast) หรือทำความสะอาดบ้าน (house cleaning) ซึ่งในระหว่างที่รายการแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ภายในบ้านของครอบครัวลิมในยามเช้านี้ ภาพของความเป็นพลเมืองที่ดี ที่รัฐบาลสิงคโปร์ต้องการในช่วงสร้างชาติก็ได้สอดแทรก และเน้นย้ำลงไปในเนื้อเดียวกับการสอนภาษาอังกฤษ เช่น ในตอนหนึ่งที่คุณพ่อ และคุณแม่ กำลังจะรับประทานอาหารเช้า และลูกๆเพิ่งตื่นและเดินออกมาจากห้องนอน รายการก็ได้หยุด และสอนภาษาอังกฤษในประโยคทำนองว่า “They were sleeping. They were late for breakfast” (พวกเด็กๆนอนหลับอยู่ และพวกเด็กก็ตื่นสายสำหรับการรับประทานอาหารเช้า) จากประโยคดังกล่าว จะเห็นได้ว่าภายใต้การสอนการใช้ไวยกรณ์แบบอดีตกาล (past tense) ดังกล่าว มาพร้อมกับแนวคิดที่รายการพยายามจะนำเสนอว่าการนอนตื่นสายเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ไม่ตรงต่อเวลา และทำให้คนในครอบครัวที่รอรับประทานอาหารเช้านั้นต้องรอ

 

ในอีกสถานการณ์หนึ่งในตอนเดียวกัน ลูกชายคนเล็กกำลังจะไปเที่ยวบ้านของเพื่อนของเขาและกำลังจะเดินข้ามทางม้าลายที่ถนน  แต่ทันใดนั้นเอง เขาก็เกือบถูกรถมอเตอร์ไซค์ที่ขับผ่านมาอย่างรวดเร็วชน ในตอนนี่ไม่ได้มีการหยุดเพื่อสอนคำศัพท์แต่อย่างใด แต่กลับกัน รายการใช้เสียงของผู้ดำเนินรายการสั่งสอนและเสียดสีเจ้าหนูน้อยของครอบครับลิมว่า “he is a silly boy” (เขาเป็นคนที่ไร้วิจารณญาณ) และก็แสดงให้เห็นว่าเขาข้ามถนนโดยที่ไม่ได้ดูไฟข้ามถนน

 

ที่มา: http://theconversation.com/why-is-singapores-school-system-so-successful-and-is-it-a-model-for-the-west-22917

 

ลักษณะการสอนภาษาอังกฤษที่ไปพร้อมกับการสอดแทรก และเน้นย้ำเรื่องการเป็นพลเมืองที่ดี อยู่ในระเบียบแบบแผนอย่างที่รัฐต้องการนั้นยังมีให้เห็นในหลายๆตอนของรายการ Let’s Speak English เช่นในตอนที่ชื่อว่า “ด็อกเตอร์ฮานไปซื้อของ”(Dr. Han Goes Shopping)เนื้อหาที่ใช้สอนภาษาอังกฤษนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการมีความซื่้อสัตย์ต่อครอบครัวของตัวเอง ในเรื่อง ด๊อกเตอร์ฮานถูกเข้าใจผิดจากการที่ลูกสาวตัวเองเห็นเขาซื้อของขวัญ และไปบอกกับคุณแม่ว่าคุณพ่อแอบซื้อของให้คนอื่น ทั้งที่จริงๆแล้วด๊อกเตอร์ฮานอยากจะเซอไพรส์ภรรยาของตัวเอง

 

จากลักษณะของรายการสอนภาษาอังกฤษ Let’s Speak English ที่ฉายในช่วงเวลาหลังจากที่ประเทศสิงคโปร์ประกาศอิสรภาพไม่นาน เราพอจะได้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าการผลักดันให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำชาตินั้นมีความเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับการสร้างความเป็นพลเมืองของสิงคโปร์ในช่วงสร้างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกฝังสำนึกความตรงต่อเวลา การปฏิบัติตามกฎหมาย หรือการมีสำนึกในคุณค่าของครอบครัว ซึ่งเอาเข้าจริงๆบรรทัดฐานเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ประเทศสิงคโปร์ที่นำโดยพรรค PAP ได้เน้นย้ำมาตลอด ดังนั้นก็อาจจะไม่เป็นการอธิบายแบบโอเว่อร์เกินไป ถ้าจะกล่าวว่าภาษาอังกฤษนั้นเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาสำนึกความเป็นพลเมืองสิงคโปร์ ให้มีระเบียบแบบที่รัฐต้องการและมีความเป็นสากล ทำให้ชาวสิงคโปร์นั้นมีลักษณพึงประสงค์ของประชาคมโลก