การควบคุมวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง

การควบคุมวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์
ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เหตุผลความจำเป็นของการควบคุมวิชาชีพนักผังเมือง

การควบคุมวิชาชีพเป็นสิ่งที่สังคมกำหนดขึ้นด้วยเหตุผลความจำเป็นที่วิชาชีพนั้นๆ จะก่อให้เกิด ผลกระทบต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ ที่เห็นได้ชัดเจนได้แก่ แพทย์ ทนายความ ฯลฯ การควบคุม วิชาชีพดังกล่าวอาจดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ หรือโดยสภาวิชาชีพโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาชีพที่มี รายละเอียดทางเทคนิคที่ต้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพนั้นๆ เป็นผู้ควบคุม ทั้งนี้ การควบคุมวิชาชีพยังมีระดับ ความแตกต่างเนื่องด้วยผลกระทบที่มีต่อประชาชน โดยวิชาชีพที่มีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนจะใช้ วิธีการออกใบอนุญาต (License) ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพ ส่วนวิชาชีพที่ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อ ประชาชน แต่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมโดยรวมจะใช้วิธีการออกใบรับรอง (Certificate) ให้แก่ผู้ ประกอบวิชาชีพนั้นๆ

วิชาชีพนักผังเมืองเป็นวิชาชีพที่ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน แต่เป็นผลกระทบที่มีต่อ สังคมโดยรวม การควบคุมวิชาชีพนักผังเมืองในต่างประเทศโดยทั่วไปจึงใช้วิธีการควบคุมโดยการออก ใบรับรองให้แก่นักผังเมือง ดังเช่นการรับรองให้เป็น Member of Royal Town Planning Institute (MRTPI) ในสหราชอาณาจักร การได้รับใบรับรองจาก American Institute of Certified Planners (AICP) ในสหรัฐอเมริกา และการรับรองให้เป็น Certified Practising Planner ในออสเตรเลีย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากวิชาชีพนักผังเมืองซึ่งมีลักษณะเป็นสหสาขาวิชา (Interdisciplinary)

โดยเป็นการทำงานร่วมกันของกลุ่มบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องต่างๆ แล้ว การ ผังเมืองยังมีส่วนที่เป็นการออกแบบชุมชนเมือง (Urban Design) ซึ่งเป็นวิชาชีพเฉพาะที่มุ่งเน้นความรู้ ความชำนาญเกี่ยวกับการวางผังและการออกแบบทางกายภาพ (Physical Planning and Design) อีก สาขาหนึ่งด้วย การควบคุมวิชาชีพสาขาดังกล่าวในบางประเทศจะควบคุมโดยการออกใบรับรองรวมอยู่ใน วิชาชีพนักผังเมือง เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวจะมีผลกระทบโดยรวมต่อสังคม ในขณะที่บาง ประเทศจะควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพการออกแบบชุมชนเมืองโดยการออกใบอนุญาตรวมอยู่ในวิชาชีพ สถาปัตยกรรมซึ่งจัดอยู่ในวิชาชีพที่มีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน

 

การควบคุมวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง

การควบคุมวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง เป็นการควบคุมวิชาชีพสาขาหนึ่งในวิชาชีพ สถาปัตยกรรม ซึ่งได้ตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ.2508 โดยได้กำหนดนิยามของ “วิชาชีพสถาปัตยกรรม” หมายความว่า “วิชาชีพการช่างในสาขาสถาปัตยกรรมหลัก สาขาสถาปัตยกรรม ผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม สาขาสถาปัตยกรรมอุตสาหการ สาขาสถาปัตยกรรมมัณฑนศิลป์ และ สาขาสถาปัตยกรรมอื่นใดซึ่งจะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา”

พระราชบัญญัติดังกล่าวได้ระบุถึงเหตุผล “เนื่องจากวิชาชีพสถาปัตยกรรม เช่นงานออกแบบเพื่อ การก่อสร้างอาคาร วางผังบริเวณพื้นที่ และการตกแต่งเพื่อสร้างสรรค์ความงาม ความมั่นคงแข็งแรง รวมถึงการควบคุมงานก่อสร้างมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ฉะนั้นเพื่อความเจริญเป็นระเบียบเรียบร้อยของ บ้านเมือง ตลอดจนการผดุงมาตรฐานการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมให้เป็นไปตามหลักวิชาที่ดี และ เป็นการแสดงออกในด้านหนึ่งของศิลปวัฒนธรรมอันดีแห่งชาติตามกาลสมัย สมควรที่จะควบคุมการ ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมโดยกำหนดมาตรฐานคุณวุฒิ ความรู้ ความสามารถ และมารยาทของผู้ ประกอบวิชาชีพในด้านนี้ รวมทั้งการส่งเสริมวิทยาการอันเกี่ยวกับวิชาชีพสถาปัตยกรรมให้ก้าวหน้าสืบไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น”

ทั้งนี้ ในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้มีเอกสาร “เรื่องการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. สถาปัตยกรรม” (อัน นิมมานเหมินท์, 2507) ที่อธิบายถึงที่มาและขอบเขตของ “สาขาวิชาผังเมือง” ซึ่งได้ ระบุถึง “หลักการเดิม โดยได้พิจารณาแล้วเห็นว่า วิชาชีพสถาปัตยกรรมเป็นวิชาช่างเทคนิคที่สลับซับซ้อน มีเนื้อหาที่กว้างขวางคาบเกี่ยวถึงวิชาการอื่นหลายแขนง และนับได้ว่าสมบูรณ์ในตัวเองแล้ว จึงได้กำหนด แนวในการร่างว่า ควรจักได้เน้นหนักไปในสาขาเดียว คือ สาขาสถาปัตยกรรม เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติใน ต่างประเทศที่เจริญที่นิยมแยก พ.ร.บ.ออกเป็นแต่ละสาขา เช่น พ.ร.บ.สถาปัตยกรรม (Architecture Act.) พ.ร.บ.วิศวกรรมโครงสร้าง (Structural Engineering Act.) พ.ร.บ.ผังเมือง (City Planning Act.) ฯลฯ.”

แต่เนื่องจากได้มีการพิจารณาเปรียบเทียบกับพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ.2505 โดยได้ ระบุว่า “แต่เมื่อได้มีการประชุม ณ กระทรวงมหาดไทย และกำหนดเอา พ.ร.บ.วิศวกรรมที่ประกาศใช้แล้ว เป็นหลัก ซึ่งปรากฏว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวได้รวมวิชาชีพสาขาต่างๆรวม 5 สาขาเข้าด้วยกัน ที่ประชุมพิจารณา เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว พ.ร.บ.สถาปัตยกรรมมีเพียงสาขาเดียว มีขอบขีดที่คับแคบกว่า หรือมี ความสำคัญน้อยกว่า พ.ร.บ.วิศวกรรม และเสนอให้ทางสมาคมพิจารณาเพิ่มสาขาที่เกี่ยวข้องทำนอง เดียวกับ พ.ร.บ.วิศวกรรม”

ในการนี้ “ผู้แทนของสมาคมฯ จึงได้เสนอ สาขาวิชาผังเมือง, ภูมิสถาปัตยกรรมและตบแต่ง อาคารเข้าไป ซึ่งแต่ละสาขามีความสัมพันธ์อยู่อย่างใกล้ชิด ทั้งในการศึกษาสถาปัตยกรรมก็มีการศึกษา วิชาดังกล่าวข้างต้นควบไปด้วยทุกแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิชาผังเมือง เป็นวิชาที่มีการศึกษาในคณะ สถาปัตยกรรม ในชั้นปีที่ 3, 4, และ 5 นอกจากนั้นสถาปนิกจำนวนมากก็ได้ปฏิบัติวิชาชีพในบางแขนงของ วิชาผังเมือง เช่น การจัดสรรที่ดิน(Subdivision) การออกแบบกลุ่มอาคารสงเคราะห์(Housing) การ ออกแบบศูนย์การค้าและธุรกิจ และศูนย์การบริหารแห่งเมือง(Business Center, Civic Center) การ ปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม(Slum Clearance) ฯลฯ อยู่แล้ว”

ด้วยข้อความดังกล่าวข้างต้นย่อมแสดงให้ทราบถึงที่มาของการบรรจุ สาขาสถาปัตยกรรมผัง เมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม และสาขาสถาปัตยกรรมมัณฑนศิลป์ เข้าไว้ในการควบคุมวิชาชีพ สถาปัตยกรรมตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ.2508 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาชีพ สถาปัตยกรรมผังเมืองซึ่งในที่นี้จะครอบคลุมถึงการจัดสรรที่ดิน การออกแบบกลุ่มอาคารทั้งของ ภาคเอกชนและภาครัฐ และการปรับปรุงฟื้นฟูเมือง ซึ่งเป็นการดำเนินการที่มุ่งเน้นถึงการออกแบบชุมชน เมือง (Urban Design)

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ.2508 ตลอด ระยะเวลาของการใช้บังคับพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นการควบคุมวิชาชีพเฉพาะสาขาสถาปัตยกรรมหลัก เพียงสาขาเดียว จึงได้มี “หนังสือถึงเลขาธิการสมาคมสถาปนิกสยาม ฯ ลงวันที่ 1 มีนาคม 2527” (อัน นิมมานเหมินท์, 2527) ซึ่งได้ทักท้วงให้มีการควบคุมวิชาชีพสถาปัตยกรรมสาขาอื่นๆ โดยได้กล่าวว่า “การที่ได้เสนอให้มีการพิจารณาควบคุมการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมสาขาอื่นๆ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. สถาปัตยกรรม 2508 อีกทั้งเพราะเหตุว่า ได้มีการควบคุมสาขาสถาปัตยกรรมเพียงสาขาเดียว เป็น เวลาเนิ่นนานถึง 19 ปี โดยมิได้คำนึงถึงประโยชน์จากสาขาอื่นๆ เช่น ผังเมือง ตกแต่งภายในอาคาร ออกแบบอุตสาหกรรม ที่ปฏิบัติการโดยสถาปนิกไทยมาหลายปีแล้ว นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยได้ผลิตนิสิต นักศึกษาดังกล่าวออกมาทุกปี… ฉะนั้นเพื่อความเป็นธรรม ควรจะมอบให้ผู้ที่มีผลประโยชน์โดยตรง (เคย ศึกษาและปฏิบัติงานมา) … ได้ช่วยพิจารณาการควบคุมวิชาชีพสาขานั้นๆ” แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวยังไม่มี การดำ เนินการใดๆ จนกระทั่งได้มีการตราพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 ขึ้นใช้บังคับแทน พระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ.2508

พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 ได้ระบุถึงเหตุผล “โดยที่วิทยาการด้านสถาปัตยกรรมมีการ พัฒนาในเนื้อหาและวัตถุประสงค์แตกต่างจากเดิมจนครอบคลุมการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมและ สิ่งแวดล้อมให้มีประโยชน์ใช้สอย ความงามและมั่นคง เพื่อสนองความต้องการทางเศรษฐกิจ เอกลักษณ์ วัฒนธรรม และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้ภาระที่ต้องควบคุม ดูแลมากกว่าเดิม และการรวมตัวของ สถาปนิกในการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพก็ได้ดำเนินการมาจนมั่นคงเป็นที่ประจักษ์ในผลงานแล้ว สมควรให้ผู้ ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมรวมตัวกันตั้งองค์กรวิชาชีพ เพื่อช่วยรัฐในการควบคุมดูแลมาตรฐานความรู้ และการประกอบวิชาชีพ ให้สามารถดำเนินการควบคุมได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และจากนโยบายเปิดเสรีในการค้า และบริการในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้ต้องเร่งการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อ ส่งเสริมคุณภาพการประกอบวิชาชีพให้พร้อมกับการแข่งขันกับต่างประเทศ สมควรปรับปรุงกฎหมายว่า ด้วยวิชาชีพสถาปัตยกรรม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

ด้วยเหตุผลตามที่ระบุดังกล่าวจะเห็นได้ถึงการปรับเปลี่ยนการดำ เนินการควบคุมวิชาชีพ สถาปัตยกรรมจากที่แต่เดิม พระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ.2508 ได้กำหนดให้เป็นอำนาจ หน้าที่ของ “คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม” หรือ “ก.ส.” ซึ่งมีปลัดกระทรวง มหาดไทยเป็นประธาน และมีกรรมการซึ่งเป็นวุฒิสถาปนิกที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย มาเป็นการควบคุมวิชาชีพโดย “สภาสถาปนิก” ซึ่งมาจากการเลือกตั้งตามที่ได้ กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 หรืออีกนัยหนึ่งคือการปรับเปลี่ยนจากการควบคุมวิชาชีพ โดยหน่วยงานของรัฐมาเป็นการควบคุมโดยสภาวิชาชีพนั่นเอง

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 ได้กำหนดนิยามของ “วิชาชีพสถาปัตยกรรม” หมายความว่า “วิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ใช้ศาสตร์และศิลป์สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อมใน สาขาสถาปัตยกรรมหลัก สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม สาขาสถาปัตยกรรมภายใน และมัณฑนศิลป์ และสาขาสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง” และในส่วนของ “สาขา สถาปัตยกรรมผังเมือง” ได้มีนิยามตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ. 2549 หมายความว่า “วิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการออกแบบวางผังเพื่อสร้างสรรค์ องค์ประกอบและสภาพแวดล้อมทางกายภาพของเมือง ชุมชนเมือง ชุมชน และโครงการกลุ่มอาคารที่มี การใช้งานประเภทเดียวกันหรือหลายประเภท รวมถึงการวางผังเพื่อกำหนดกิจกรรม พื้นที่ ขนาด ความ หนาแน่น ความสูง ที่โล่งหรือที่ว่างระหว่างอาคาร และโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ภายในพื้นที่ดังกล่าว”

นอกจากนี้ ข้อ 2(2) ในกฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ.2549 ยังได้ระบุถึง ขอบเขตของงานในสาขาสถาปัตยกรรมผังเมืองซึ่ง “เกี่ยวกับการวางผังสำหรับพื้นที่หรือกลุ่มอาคาร ดังต่อไปนี้
(ก) พื้นที่ที่มีการใช้บังคับผังเมืองรวมและจัดทำผังเมืองเฉพาะตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
(ข) พื้นที่ที่มีการจัดรูปที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
(ค) พื้นที่ที่มีการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน
(ง) พื้นที่อนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
(จ) พื้นที่ในเขตเพลิงไหม้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือพื้นที่ที่มีภัยพิบัติและอุบัติภัยตามที่กฎหมายกำหนด
(ฉ) นิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือพื้นที่พัฒนาพิเศษตามที่กฎหมายกำหนด
(ช) กลุ่มอาคารที่ประกอบด้วยอาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารสาธารณะอาคารสูง และอาคารพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารที่มีพื้นที่รวมกันตั้งแต่30,000 ตารางเมตรขึ้นไป”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าขอบเขตของงานในสาขาสถาปัตยกรรมผังเมืองจะเป็นการควบคุมการวางผัง สำหรับพื้นที่หรือกลุ่มอาคารที่มีการควบคุมตามกฎหมายในปัจจุบันได้แก่ การวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะ โดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2518 การวางผังโครงการจัดรูปที่ดินโดยอาศัย อำนาจแห่งพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ.2547 การวางผังโครงการจัดสรรที่ดินตามการ ควบคุมโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 การวางผังโครงการอนุรักษ์ ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม แห่งชาติ พ.ศ.2535 การวางผังโครงการปรับปรุงเขตเพลิงไหม้โดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 การวางผังโครงการนิคมอุตสาหกรรมโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติการ นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 และการวางผังกลุ่มอาคารที่ประกอบด้วยอาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารสาธารณะ อาคารสูง และอาคารพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุม อาคารที่มีพื้นที่รวมกันตั้งแต่ 30,000 ตารางเมตรขึ้นไป ตามการควบคุมโดยอาศัยอำ นาจแห่ง พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522

ด้วยขอบเขตของงานในสาขาสถาปัตยกรรมผังเมืองตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพ สถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ.2549 จะเห็นได้ถึงการดำเนินงานที่ครอบคลุมเฉพาะการวางและจัดทำแผนผัง โครงการ (Project Plan) ซึ่งมีการควบคุมตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน การดำเนินงานดังกล่าวไม่ว่าจะ เป็นการวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะ ผังโครงการจัดรูปที่ดิน ผังโครงการจัดสรรที่ดิน ผังโครงการอนุรักษ์ ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม ผังโครงการปรับปรุงเขตเพลิงไหม้ ผังโครงการนิคมอุตสาหกรรม และผังกลุ่ม อาคารที่ประกอบด้วยอาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารสาธารณะ อาคารสูง และอาคาร พิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารที่มีพื้นที่รวมกันตั้งแต่ 30,000 ตารางเมตรขึ้นไป ย่อมแสดง ถึงผลกระทบโดยตรงที่มีต่อประชาชนทั้งที่เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคาร และประชาชน ผู้ใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคารนั้นๆ จึงย่อมแสดงถึงเหตุผลความจำเป็นที่ในการควบคุมโดยการออก ใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมืองตามเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าการดำเนินการด้านการผังเมืองมีลักษณะเป็นสหสาขาวิชา โดย เป็นการทำงานร่วมกันของกลุ่มบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องต่างๆ ดังนั้นไม่ เพียงแต่ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมืองจะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพ ดังกล่าวแล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพในสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งได้แก่ สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม วิศวกรรม ฯลฯ จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับรองตามการควบคุมของแต่ละวิชาชีพ โดยเหตุผล ความจำเป็นที่วิชาชีพนั้นๆ จะก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนหรือผลกระทบที่มีต่อสังคมโดยรวม เช่นกัน

 

การควบคุมวิชาชีพนักผังเมือง

นอกเหนือจากขอบเขตของการวางและจัดทำ แผนผังโครงการภายใต้การควบคุมวิชาชีพ สถาปัตยกรรมผังเมืองดังกล่าวข้างต้นแล้ว การผังเมืองยังมีขอบเขตของการดำเนินการที่มีความสำคัญที่ เกี่ยวข้องกับการวางแผนภาคและเมือง (Urban and Regional Planning) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะ ครอบคลุมถึงการวางและจัดทำผังภาค (Regional Plan) ซึ่งมีลักษณะเป็นแผนผังเชิงนโยบาย และการ วางและจัดทำผังเมืองรวม (Comprehensive Plan) ซึ่งในปัจจุบันเป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจแห่ง พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2518 การวางแผนภาคและเมืองดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม โดยรวมอย่างกว้างขวาง จึงย่อมมีความจำเป็นต่อการควบคุมโดยการออกใบรับรองให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพ นักผังเมือง เพื่อการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพดังกล่าวให้เป็นไปอย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม โดยที่ประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่มีการควบคุมวิชาชีพนักผังเมือง จึงทำให้นักผัง เมืองขาดการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพ จนอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การผังเมืองของประเทศไทย ไม่สามารถตอบรับต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม การป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมทั้ง การชี้นำการพัฒนาทางกายภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมอย่างกว้างขวาง ในปัจจุบัน จึงย่อมมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่วิชาชีพนักผังเมืองจะต้องมีการควบคุมโดยการออกใบรับรอง ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพ เช่นเดียวกับการควบคุมวิชาชีพนักผังเมือง (Certified Planner) ในประเทศต่างๆ โดยทั่วไป ทั้งนี้ สมาคมวิชาชีพซึ่งได้แก่สมาคมนักผังเมืองไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งได้แก่กรม โยธาธิการและผังเมือง จะต้องเป็นผู้ผลักดันเพื่อให้เกิดกลไกที่จำเป็นต่อการควบคุมการประกอบวิชาชีพต่างๆ ซึ่งได้แก่ กฎ ระเบียบและข้อบังคับ ตลอดจนองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการออกใบรับรอง และการ กำกับดูแลการประกอบวิชาชีพนักผังเมืองให้เป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

อัน นิมมานเหมินท์. (2507). เรื่องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สถาปัตยกรรม. กรุงเทพ : สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์.
อัน นิมมานเหมินท์. (2527). หนังสือถึงเลขาธิการสมาคมสถาปนิกสยาม ฯ ลงวันที่ 1 มีนาคม 2527. กรุงเทพ : สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์.

www.coa.or.th
www.planning.org
www.planning.org.au
www.rtpi.org.uk