มักกะสันไม่ควรเป็นเฉพาะสวน Makkasan shouldn’t only be a park.

อภิวัฒน์ รัตนวราหะ (Apiwat Ratanawaraha) Lecturer: Faculty of Architecture, Chulalongkorn University

การรณรงค์เรียกร้องให้พัฒนาที่ดินย่านมักกะสัน 497 ไร่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นสวนสาธารณะ กำลังเป็นประเด็นถกเถียงอีกครั้งหนึ่งบนโลกโซเชียลมีเดียและหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ มีการตั้งกลุ่ม “เราอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์”และมีบทความที่เสนอให้พัฒนามักกะสันให้เป็นปอดของกรุงเทพฯ วัตถุประสงค์หนึ่งคือ เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้มีการสร้างเฉพาะอาคารพาณิชยกรรม เพื่อสร้างรายได้และปลดภาระหนี้สินของการรถไฟฯ ที่มีอยู่กว่าแสนล้านบาท การรณรงค์ดังกล่าวเป็นเรื่องดีและสื่อถึงการตื่นตัวของภาคประชาสังคมในด้านสิ่งแวดล้อมเมือง ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่ามหานครกรุงเทพต้องการพื้นที่สาธารณะเพิ่มเติมและพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลายมากกว่าที่มีอยู่ และที่สำคัญคือพื้นที่มักกะสันไม่ควรเป็นอาคารสำนักงานและห้างสรรพสินค้าทั้งหมด แต่ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้มักกะสันกลายเป็นพื้นที่นันทนาการเพียงอย่างเดียว

ด้วยทำเลที่ตั้งกลางเมืองและศักยภาพในการพัฒนาให้รองรับการพัฒนาเมืองที่เน้นการขนส่งมวลชนแบบราง พื้นที่มักกะสันมีความเหมาะสมมากที่จะพัฒนาในรูปแบบผสมผสาน โดยให้มีทั้งพื้นที่สวนสาธารณะและอาคารที่มีความหนาแน่นปานกลางและสูงเพื่อรองรับกิจกรรมเมืองที่หลากหลาย เช่นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งงานในเมืองศูนย์เปลี่ยนถ่ายการขนส่งสาธารณะที่ยั่งยืนทั้งรถไฟฟ้าและรถประจำทาง สถาบันการเรียนรู้สร้างสรรค์นอกระบบโรงเรียน ระบบแก้มลิงที่ช่วยหน่วงและระบายน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม หรือแม้แต่ตลาดสดขายผักผลไม้ ฯลฯ ความท้าทายของโครงการมักกะสันจึงไม่ได้อยู่ที่จะทำอย่างไรให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะแบบเซ็นทรัลปาร์กในนครนิวยอร์ก แต่จะทำอย่างไรให้สามารถใช้พื้นที่ใหญ่ใจกลางเมืองนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมที่หลากหลายในด้านต่างๆได้ เนื่องจากที่ดินมีอยู่อย่างจำกัดและมิได้มีเพียงเพื่อให้คนชั้นกลางและชั้นสูงสามารถขี่จักรยานเล่นและชื่นชมศิลปะในช่วงวันหยุด อีกทั้งการออกแบบเมืองให้ยั่งยืนได้นั้นไม่ได้หมายความว่าต้องสร้างป่าในเมือง แต่จะทำอย่างไรให้สามารถสร้างตึกรามบ้านช่อง พื้นที่นันทนาการและระบบการขนส่งเดินทาง ที่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจสังคมไปอย่างสมดุลพร้อมกัน เพราะความยั่งยืนไม่ใช่มีเฉพาะเรื่องต้นไม้ และความเจริญไม่ได้วัดด้วยแค่ความสูงอาคาร

แม้ว่าแนวคิดป่าในเมืองกำลังเป็นที่นิยมในหลายเมืองทั่วโลกก็ตาม แต่แนวทางการออกแบบและพัฒนาเมืองในประเทศไทย ต้องคำนึงถึงโจทย์และความจำเป็นของผู้คนในสังคมนี้เป็นหลักการสร้างพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ในเมือง แม้อาจฟังดูดี แต่ก็อาจมีผลกระทบด้านอื่นตามมาเช่นอาจมีการพัฒนาพื้นที่รอบสวนให้เป็นคอนโดมิเนียมสำหรับคนมีฐานะและผลักให้คนมีรายได้น้อยกว่าออกไปอยู่ที่อื่นดังในกรณีเซ็นทรัลปาร์กที่นิวยอร์ก และป่ากลางเมืองในกรุงไนโรบีประเทศเคนยา

หากต้องการใช้โครงการมักกะสันให้เป็นกลไกในการสร้างพื้นที่สีเขียวมากขึ้นก็อาจต่อรองกับภาครัฐให้กำหนดรายได้ส่วนหนึ่งจากการพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรมในมักกะสันไปใช้ในการตั้งกองทุนเพื่อซื้อหรือเช่าที่ดินระยะยาว เพื่อจัดทำสวนขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วกรุงเทพฯ เพราะพื้นที่สีเขียวที่คนส่วนใหญ่ในเมืองต้องการไม่ใช่ป่าผินใหญ่ในเมือง แต่เป็นพื้นที่ขนาดกลางและขนาดเล็กใกล้บ้านที่สามารถเข้าถึงได้สะดวกกว่าและบ่อยครั้งมากกว่า หรือถ้าต้องการป่าไม้จริง ก็อาจใช้เงินจากกองทุนนั้นในการซื้อที่ดินจากไร่ข้าวโพดบนดอยแล้วฟื้นฟูให้เป็นป่าที่แท้จริงในพื้นที่ที่เหมาะสมการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้เกิดจากการสร้างป่าในเมือง แต่อยู่ที่การป้องกันไม่ให้เมืองอยู่ในป่า

การนำเสนอแนวคิดแบบสุดขั้วมีประโยชน์คือกระตุ้นให้สังคมตื่นตัวและถกเถียงกันในทางเลือกที่มีอยู่จึงเป็นการรณรงค์ที่ควรชมเชย แต่เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจลงรายละเอียดทำจริงทางเลือกนั้นต้องมองให้ครอบคลุมและให้คุ้มทุนกับสังคมโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบโจทย์ให้กับคนด้อยโอกาสในเมืองที่เป็นปัญหาสังคมเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าการขาดแคลนพื้นที่สวนสาธารณะ

ด้วยเหตุนี้มักกะสันจึงไม่ควรเป็นเพียงสวนและพิพิธภัณฑ์