ซอยลัดประหยัดพลังงาน: พื้นที่ว่างสาธารณะขนาดเล็ก-พื้นที่ทางสังคมของชุมชนไทย

ซอยลัดประหยัดพลังงาน: พื้นที่ว่างสาธารณะขนาดเล็ก-พื้นที่ทางสังคมของชุมชนไทย

พื้นที่ว่างสาธารณะขนาดเล็ก-พื้นที่ทางสังคมของชุมชนไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ

ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โทร: 02 2184445 / อีเมล์: khaisri.p@chula.ac.th

 

บทคัดย่อ

การศึกษาเปรียบเทียบการใช้งานพื้นที่ว่างสาธารณะของกรณีศึกษาชุมชนในเมือง (ชุมชนเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร) และชุมชนชานเมือง (ชุมชนท่าทราย นนทบุรี) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหามาตรฐานรูปแบบเชิงสัณฐานของพื้นที่ว่างสาธารณะที่เอื้อต่อการใช้งานอย่างอเนกประโยชน์ (multi-uses) โดยอ้างอิงจากทฤษฎี “สนามทัศน์” ของ Turner and Penn (1999) ผลการศึกษาชี้ให้เห็นข้อขัดแย้งของทฤษฎีตะวันตกกับกรณีศึกษาของชุมชนไทยอย่างน่าสนใจ กล่าวคือ พื้นที่ว่างสาธารณะที่มี “สนามทัศน์” ที่ดี หรือมีศักยภาพในการมองเห็นและเข้าถึงสูง ไม่ได้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเอื้อให้เกิดพื้นที่ทางสังคมที่ดีของชุมชนไทย ในทางตรงกันข้าม คนไทยมักนิยมพื้นที่ขนาดเล็ก ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่าย “ซอยลัด” ที่คนเดินเท้า โดยเฉพาะ “คนใน” ชุมชนที่รู้จักคุ้นเคยพื้นที่เป็นอย่างดี สามารถสัญจรเชื่อมต่อไปยังที่อื่นๆ ได้โดยไม่ต้องผ่านที่โล่งแจ้ง และไม่ต้องใช้ยานพาหนะให้สิ้นเปลืองพลังงานแต่อย่างใด

 

คำสำคัญ

ซอยลัด พื้นที่ว่างสาธารณะ พื้นที่ทางสังคม ความเป็นอเนกประโยชน์ สนามทัศน์ ชุมชนในเมือง ชุมชนชานเมือง

พื้นที่ว่างสาธารณะ (public open space) โดยเฉพาะถนนและบาทวิถี ถือเป็นพื้นที่รองรับชีวิตสังคมของคนในเมืองที่ดีที่สุด (Jacobs,1961) พื้นที่ว่างสาธารณะหนึ่งๆ ที่ถือว่า “ดี” และประสบความสำเร็จนั้น มักถูกนิยามไว้ 2 แนวทางหลักๆ กล่าวคือ มักเป็นที่จดจำ ผูกพัน และประทับใจของผู้ใช้ (เชิงปรากฏการณ์นิยม) หรือ เป็นพื้นที่ที่มีความเป็นอเนกประโยชน์ (multi-uses) – สามารถพบเห็นเจอะเจอกลุ่มคนหลากประเภท โดยเฉพาะในยุคของการประหยัดพลังงานในเมืองนั้น กลุ่มคนหลากหลายประเภทมักนิยามถึงคนเดินเท้า (pedestrians) เป็นหลัก ที่ทำกิจกรรมหลายอย่าง ในเวลาที่แตกต่างกันเสมอในพื้นที่เดียวกัน (เชิงพฤติกรรมนิยม) นิยามในแบบหลังนี้ เป็นนิยามที่น่าสนใจและสอดคล้องกับแนวความคิดของการสร้างและส่งเสริมให้พื้นที่ว่างสาธารณะเป็น “พื้นที่ทางสังคม” (social space) ที่แท้จริงของชุมชนและเมือง

อย่างไรก็ตาม ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ว่างสาธารณะของไทยอย่างแท้จริงและเป็นระบบนั้นมีอยู่น้อยมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากเหตุผลที่ว่าคนไทยโดยเฉพาะคนในเมืองนิยมการสัญจรด้วยยานพาหนะเป็นหลัก ซึ่งนอกจากจะสวนทางกับแนวคิดเมืองประหยัดพลังงานแล้ว การสัญจรด้วยยานพาหนะยังขัดแย้งกับวิถีการใช้พื้นที่ว่างสาธารณะเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพื้นที่ว่างสาธารณะมีรูปแบบการใช้งานที่สอดคล้องกับวิถีของคนเดินเท้าเป็นหลัก นอกจากนี้ แนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ว่างสาธารณะที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นของชาวตะวันตก หรือ “คนเมืองหนาว” ซึ่งมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตกลางแจ้งของคนเดินเท้าที่ต่างจากประเทศไทยเป็นอย่างมาก แนวคิดทางตะวันตกที่มีอยู่นั้น เน้นการให้นิยามความสำคัญในเชิงปรากฏการณ์นิยมเป็นหลัก กล่าวคือ มักสนับสนุนแนวคิดการสร้างพื้นที่สาธารณะให้สื่อสารความหมาย ความผูกพัน ความประทับใจ และเป็น “สถานที่” (place) มากกว่าเป็น “พื้นที่” (space) ธรรมดา (Norberg-Schulz, 1969, Relph, 1976) ด้วยเหตุนี้ ทำให้ความรู้ความเข้าใจเชิงพฤติกรรมในการ “สร้าง” พื้นที่ว่างสาธารณะให้เป็นพื้นที่ทางสังคมที่มีความเป็นอเนกประโยชน์มีอยู่ไม่มาก จึงไม่ปรากฏหลักการที่แพร่หลายถึง “สูตรสำเร็จ” ของการสร้างซ้ำมากนัก โดยเฉพาะสูตรสำเร็จที่มีหลักฐานอ้างอิงเพียงพอจากผลงานวิจัยภาคสนามที่เป็นระบบ ส่งผลให้พื้นที่ว่างสาธารณะที่สร้างขึ้นใหม่เป็นจำนวนมากถูกทิ้งร้าง เสื่อมโทรม ไม่มีผู้คนนิยมเข้าใช้ รวมทั้งไม่สามารถพิทักษ์รักษาพื้นที่เก่าไว้ให้ดีเช่นเดิมได้ ยิ่งไปกว่านั้น การเลียนแบบแนวคิดการสร้างพื้นที่ว่างสาธารณะอย่างตะวันตกในเมืองไทยโดยขาดความเข้าใจและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ถึงความต่างบริบท ทำให้พื้นที่ไม่เป็นที่นิยมของคนไทย เช่น โล่ง-ร้อนเกินไป เข้าถึงยากจากจุดจอดรถโดยสารสาธารณะ หรือดูแปลกแยกผิดฝาผิดตัวจากผู้ใช้ ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรม และวิถีชีวิตสังคมเมืองของคนไทยอย่างแท้จริง (รูปที่ 1-2)

 

รูปที่ 1-2: ลานกีฬาแห่งหนึ่งริมถนนย่านเพชรบุรีตัดใหม่ และลานสยามดิสคอฟเวอรี่ กรุงเทพฯ
(ที่มา: จากการสำรวจ พ.ศ. 2550)

 

แนวคิดแบบพฤติกรรมนิยมที่สำคัญของการสร้างพื้นที่ว่างสาธารณะที่ดีในแบบตะวันตกนั้น มักเป็นแนวคิดในเชิงพฤติกรรมสัมพันธ์สัณฐาน (behavior-related spatial configuration) โดยเฉพาะพฤติกรรมของ “คนเดินเท้า” (pedestrians) ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานหลักของการลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในเมือง และด้วยเชื่อว่าคนเดินเท้าที่สัญจรโดยอิสระเท่านั้นที่สามารถสร้างชีวิตสังคมเมืองที่สมบูรณ์แบบและยั่งยืนที่สุดได้ (Jacobs, 1961, Hillier, 1993) แนวคิดดังกล่าวมีพื้นฐานอยู่ว่า พฤติกรรมการใช้พื้นที่ของคนเดินเท้า ทั้งรูปแบบพฤติกรรมการสัญจร (moving behavioral pattern) และรูปแบบพฤติกรรมการจับจองพื้นที่ (static behavioral pattern) นั้น ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากรูปทรงและการจัดวางตัวของพื้นที่นั้นๆ (form and configuration of space) (Hillier and Hanson, 1984) ด้วยลักษณะรูปทรงและการจัดวางตัวของพื้นที่ที่แตกต่างจะทำให้ทัศนียภาพในการมองเห็นของคนที่อยู่ในพื้นที่แตกต่างกันออกไปด้วย Benedikt (1976) เรียกพื้นที่ในการถูกมองเห็นทั้งหมดจากจุดใดจุดหนึ่งว่า “สนามทัศน์” (isovist field) สิ่งปิดล้อมในพื้นที่ชุมชนหรือเมือง ตลอดจนการจัดวางตัวของพื้นที่นั้นที่สัมพันธ์กับพื้นที่อื่นๆ มีผลทำให้ขนาดของสนามทัศน์ในแต่ละตำแหน่งเปลี่ยนแปลงไป (รูปที่ 3-4) ซึ่งจะส่งผลโดยตรงทำให้ประสบการณ์และพฤติกรรมของคนภายในพื้นที่นั้นๆ เช่น การเลือกเส้นทางการเข้าถึง เดินผ่าน หยุดพบปะพูดคุย ยืน นั่ง แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร สินค้า บริการ หรือมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในลักษณะต่างๆ ฯลฯ แตกต่างกันออกไปด้วย (Batty, 2000) นอกจากนี้ Turner และ Penn (1999) กล่าวยืนยันจากงานวิจัยหลายชิ้นว่า พื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการมองเห็น หรือมีสนามทัศน์ที่กว้างไกลและชัดเจนกว่า มีแนวโน้มที่จะเอื้อให้เกิดการเข้าใช้พื้นที่อย่างหลากหลายวัตถุประสงค์ ในหลากหลายเวลา โดยกลุ่มคนหลากหลายประเภทอีกด้วย ตามความหมายของ “ความเป็นอเนกประโยชน์” เนื่องจากคนมักมีพฤติกรรมทางสังคมของการชอบมองและสังเกตุผู้อื่น และในทางกลับกัน ชอบที่จะถูกมองและสังเกตุเช่นเดียวกัน ดังนั้น การวิเคราะห์ระดับสนามทัศน์ของพื้นที่ (space) ที่แตกต่างหลากหลายว่ามีความสัมพันธ์กับรูปแบบการใช้พื้นที่ (space use pattern) หรือไม่และอย่างไร จึงมีประโยชน์ต่อการระบุหรือทำนายลักษณะรูปทรงและการจัดวางของพื้นที่ว่างสาธารณะที่สัมพันธ์กับคุณภาพของการใช้อย่างอเนกประโยชน์ในพื้นที่นั้นๆ ได้

รูปที่ 3: พื้นที่ “สนามทัศน์” คือพื้นที่ที่ถูกมองเห็นจากจุดใดจุดหนึ่ง (ที่มา: Benedikt, 1979)

 

 

รูปที่ 4: พื้นที่สนามทัศน์เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งปิดล้อม (ที่มา: Franz and Wiener, 2005)

 

พื้นที่ว่างสาธารณะเป็นองค์ประกอบสำคัญของ “ชุมชน” ซึ่งในนิยามทั่วไป ชุมชน หมายถึงกลุ่มคนที่ “ร่วมที่ร่วมทาง” มีที่พักอาศัยอยู่อาศัยในบริเวณหรือละแวกเดียวกัน สมาชิกในชุมชนอาจรู้จักเป็นเครือญาติหรือคุ้นเคยกัน มีการสร้างเอกลักษณ์และวิถีประจำวันผ่านการใช้พื้นที่ เวลา และมีกิจกรรมร่วมกันทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมบนพื้นที่ว่างสาธารณะเป็นสำคัญ ในขณะที่“ชุมชนในเมือง” มักมีพื้นที่แทรกอยู่ในบริเวณศูนย์กลางเมืองที่มีความแออัดหนาแน่นและมีข้อจำกัดในการขยายตัว “ชุมชนชานเมือง” นั้น มักตั้งถิ่นฐานเกาะกลุ่มกันอย่างหลวมๆ และยังมีศักยภาพเชิงพื้นที่ในการขยายตัวได้มาก ลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างดังกล่าวส่งผลให้รูปทรงและการจัดวางตัวของพื้นที่ว่างสาธารณะภายในชุมชนทั้งสองประเภทมีความแตกต่างกันด้วย

 

ความน่าสนใจก็คือ สูตรสำเร็จของตะวันตกในการสร้างพื้นที่ว่างสาธารณะที่มีระดับความเป็นอเนกประโยชน์สูง (โดยสัมพันธ์กับขนาดพื้นที่สนามทัศน์ที่กว้างและไกลนั้น) จะใช้ได้กับเมืองไทยหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อนำมาพิจารณากับพื้นที่ว่างสาธารณะในชุมชน 2 ประเภทในเมืองไทย ที่มีลักษณะสัณฐาน ตลอดจนบริบทของสถานที่ ผู้คน กิจกรรม และการใช้เวลาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยคาดหวังว่า จะสามารถค้นพบสูตรสำเร็จของการสร้างพื้นที่ว่างสาธารณะที่มีการใช้งานอย่างอเนกประโยชน์ หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นพื้นที่ทางสังคมของไทยอย่างแท้จริงได้ บทความฉบับนี้มีวัตถุประสงค์หลักในการตอบคำถามนี้ โดยทำการประมวลและสังเคราะห์งานวิทยานิพนธ์สาขาวิชาการวางแผนภาคและเมืองมหาบัณฑิต 2 ฉบับได้แก่ เรื่อง สนามทัศน์และรูปแบบการใช้พื้นที่ว่างสาธารณะของชุมชนในเมือง: กรณีศึกษา ชุมชนย่านเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร (ปราณระฟ้า พรหมประวัติ, 2551) และเรื่อง สนามทัศน์และรูปแบบการใช้พื้นที่ว่างสาธารณะของชุมชนชานเมือง: กรณีศึกษา ชุมชนท่าทราย นนทบุรี (ธิติมา กลางกำจัด, 2551)

 

ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ย่อยๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างชุดความคิดในการตอบคำถามอย่างเป็นระบบ ดังนี้
– สรุปนิยามและความแตกต่างของชุมชนในเมืองและชานเมือง ผ่านกรณีศึกษา

คือ ชุมชนย่านเสาชิงช้า กรุงเทพฯ และชุมชนท่าทราย นนทบุรี
– ระบุแนวความคิดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ว่างสาธารณะและพฤติกรรมการใช้พื้นที่ว่าง

สาธารณะของคนเดินเท้าของสากลและไทย
– ประมวลผลความสัมพันธ์ระหว่าง “สนามทัศน์” และพฤติกรรมการใช้พื้นที่ว่างสาธารณะ

ผ่านการวิเคราะห์ชุมชนกรณีศึกษา
–  สังเคราะห์ลักษณะรูปแบบพื้นที่ว่างสาธารณะในชุมชนไทยที่มีระดับการใช้งานอย่างอเนกประโยชน์

 

ชุมชนในเมือง และ ชุมชนชานเมือง

นิยาม ความเหมือน และความต่างผ่านกรณีศึกษา “เสาชิงช้า” และ “ท่าทราย”

“ชุมชนเมือง” (urban community) และ “ชุมชนชานเมือง” (suburban community) มัก

ถูกให้คำนิยามไว้อย่างแตกต่าง ทั้งในนัยยะทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม ดังนี้

        ชุมชนเมือง เป็นชุมชนในบริเวณศูนย์กลาง หรือพื้นที่ชั้นในของเมือง มักเป็นชุมชนเก่า อาคารบ้านเรือนมีความหนาแน่น แต่น้อยกว่าชุมชนแออัด กล่าวคือ น้อยกว่า 15 หลังต่อ 1 ไร่ ทางหน่วยงานท้องถิ่นมีการจัดทำประกาศกำหนดเป็นชุมชน คนในชุมชนประกอบอาชีพหลากหลายเป็นอิสระ แต่ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการค้าขายและการบริการ หรืออุตสาหกรรมชุมชนเมือง ด้วยลักษณะเฉพาะของที่ตั้งที่แทรกอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองที่มีความแออัดหนาแน่นและมีข้อจำกัดในการขยายตัวแล้ว ชุมชนเมืองมักมีรูปแบบการใช้ชีวิตสาธารณะ 2 ระดับซ้อนทับอยู่ด้วยกันอย่างน่าสนใจ กล่าวคือ ระดับภายในชุมชนเอง (public space use in a community level)  และระดับเมือง (public space use in a civic level) โดยเกิดการสอดแทรก เกื้อหนุน หรือปะทะขัดแย้งของกิจกรรมสาธารณะของทั้งคนในชุมชน และคนกลุ่มอื่นๆ อย่างหลากหลายในช่วงเวลาต่างๆ บนพื้นที่ว่างสาธารณะ ซึ่งมักมีลักษณะเฉพาะเป็นเอกลักษณ์ กล่าวคือ มีรูปทรงและการจัดวางตัวของพื้นที่ว่างสาธารณะที่แตกต่างหลากหลาย และโดยมากเป็นพื้นที่ที่ถูกโอบล้อมด้วยสิ่งปลูกสร้าง หรือไม่ก็เกาะตัวเป็นแนวยาวไปตามทางสัญจร เนื่องจากพื้นที่มีจำกัดนั่นเอง

 

ส่วน ชุมชนชานเมือง เป็นชุมชนบริเวณรอยต่อระหว่างเมืองและชนบท (rural urban fringe) โดยขยายตัวไปตามเส้นทางคมนาคมที่สะดวกจากเมืองใหญ่ โดยชาวเมืองไปตั้งบ้านเรือนปะปนอยู่กับชาวชนบทซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่อยู่เดิม เช่น หมู่บ้านจัดสรร การเคหะต่างๆ ทำให้มีสภาพแวดล้อม ผู้คน และกิจกรรมที่มีหลายลักษณะปะปนกัน ทั้งกลุ่มคนที่อยู่ดั้งเดิมและผู้มาใหม่ โดยหน่วยงานท้องถิ่นได้จัดทำเป็นประกาศกำหนดชุมชนในพื้นที่ที่มีการดำเนินการด้านเกษตรกรรมมาก่อน  ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ชานเมือง หรืออยู่ในเขตรอบนอกของเมืองที่มีการขยายตัวสูง ชุมชนชานเมืองมักมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ชุมชนชานเมืองมักมีพื้นที่ตั้งถิ่นฐานเกาะกลุ่มกันอย่างหลวมๆ และยังมีศักยภาพเชิงพื้นที่ในการขยายตัวได้มาก มีรูปแบบการใช้ชีวิตสาธารณะเป็นระบบปิด กล่าวคือ โดยมากมักมีเฉพาะกิจกรรมระดับภายในชุมชน (public space use in a community level) เองเป็นส่วนมาก เนื่องจากชุมชนมีการตั้งถิ่นฐานแบบไม่แออัด และมีพื้นที่ค่อนข้างมาก รูปทรงและการจัดวางตัวของพื้นที่ว่างสาธารณะจึงค่อนข้างเปิดโล่ง มักกระจายตัวเลื่อนไหลอย่างต่อเนื่องโดยรอบสิ่งปลูกสร้าง มีเพียงบางส่วนที่เป็นพื้นที่ที่ถูกโอบล้อมด้วยสิ่งปลูกสร้าง

 

              ชุมชนย่านเสาชิงช้า เป็นชุมชนเมือง มีที่ตั้งอยู่ในศูนย์กลางกรุงเทพฯ บริเวณที่เรียกว่าเป็น พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ประกอบไปด้วยชุมชนย่อยๆ หลากหลายชุมชนด้วยกันได้แก่ ชุมชนโบสถ์พราหมณ์ ชุมชนตรอกศิลป์-ตึกดิน ชุมชนราชบพิธพัฒนา ชุมชนแพร่งภูธร ชุมชนวัดเทพธิดาราม ชุมชนหลังวัดราชนัดดา ชุมชนวังกรมพระสมมติอรพันธ์ และชุมชนตรอกเฟื่องทอง-ตรอกวิสูตร ชุมชนทั้ง 8 ล้วนเป็นชุมชนเก่าแก่เดิมนั้นมีอาณาบริเวณต่อเนื่องกัน ชุมชนย่านเสาชิงช้านี้ มีองค์ประกอบเชิงพื้นที่ และมีกิจกรรมเกื้อหนุนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมแบบ “ชุมชนเมือง” ที่ชัดเจนและสำคัญยิ่งของกรุงเทพฯ เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก หรือ “ด้านใน”ของคลองหลอดและไม่ได้ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ชุมชนย่านเสาชิงช้าจึงมีพื้นที่ว่างสาธารณะที่จำกัด มีรูปทรงและการจัดวางตัวที่แตกต่างหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ซึ่งถูกปิดล้อมด้วยอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง เช่น ลานวัด ลานโรงเรียน ลาน-สวนสาธารณะขนาดเล็กใหญ่ต่างๆ เช่น ลานวัดสุทัศน์เทพวราราม ลานวัดราชบพิธ ลานวัดมหรรณพาราม ลานโรงเรียนเบญจมราชาลัย ลานชุมชนแพร่งภูธร และสวนรมณีนาถ เข้าถึงได้ด้วยทางเดินเท้าลัดเลาะไปในพื้นที่ หรือไม่ก็อยู่ในรูปแบบของการใช้พื้นที่ทางเดินเท้าที่เกาะตัวต่อเนื่องกันไปตามแนวยาวของโครงข่ายการสัญจรและคลองต่างๆ มีลักษณะเป็น “ซอยลัด” เฉพาะของคนเดินเท้าที่ยานพาหนะเข้าถึงค่อนข้างลำบาก เลี้ยวเลาะไปในพื้นที่ชุมชนที่ถูกล้อมกรอบด้วยถนนหลักทั้งสี่ด้าน พื้นที่ว่างดังกล่าวใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจและสังคม กล่าวคือเป็นที่พบปะ ปะทะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร สินค้า บริการภายในชุมชน อย่างมีเอกลักษณ์ รวมทั้งมีกิจกรรมการใช้พื้นที่ว่างสาธารณะในระดับเมืองเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ลานคนเมือง ทางเท้าถนนดินสอ ทางเท้าถนนราชดำเนิน เป็นต้น (รูปที่ 5-7)

 

 

รูปที่  5: ชุมชนย่านเสาชิงช้า กรุงเทพฯ (ที่มา: ปราณระฟ้า พรหมประวัติ, 2551)

 

 

รูปที่  6: รูปแบบการใช้ประโยชน์อาคารในพื้นที่ชุมชนย่านเสาชิงช้า กรุงเทพฯ (ที่มา: ปราณระฟ้า พรหมประวัติ, 2551)

 

รูปที่  7: ขอบเขตพื้นที่ว่างสาธารณะในชุมชนย่านเสาชิงช้า กรุงเทพฯ (ที่มา: ปราณระฟ้า พรหมประวัติ, 2551)

 

ส่วน ชุมชนท่าทราย เป็นชุมชนชานเมืองในเขตจังหวัดนนทบุรี ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น “ชุมชนในเมือง” หรือ “ชุมชนเมือง” ของนนทบุรี โดยเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดนนทบุรีในอดีต สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2208) ต่อมาได้มีการขยายพื้นที่ชุมชนขนานคลองบางซื่อเรื่อยไปจนถึงเขตรอยต่อตำบลตลาดขวัญ และในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการย้ายศาลากลางจังหวัดไปตั้งที่ปากคลองบางซื่อ  การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้ชุมชนท่าทรายกลายเป็นชายขอบของเทศบาลนครนนทบุรี สิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ไม่มีการเพิ่มความหนาแน่นเหมือนชุมชนในเมือง เนื่องจากไม่มีแรงดึงดูดทางเศรษฐกิจและสังคมของความเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมและราชการ พื้นที่ว่างสาธารณะภายในชุมชนมีลักษณะค่อนข้างเปิดโล่ง กระจายตัวเลื่อนไหลอย่างต่อเนื่องโดยรอบสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งพื้นที่โล่งบริเวณลานวัด ลานกีฬา สนามกีฬาโรงเรียน มหาวิทยาลัย ท่าเรือ สถานที่ราชการ อย่างไรก็ตาม พื้นที่โล่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่โล่งว่างทางธรรมชาติอื่นๆ ที่ถูกปล่อยรกร้าง ทำให้คนเดินเท้าไม่สามารถสัญจรเข้าถึงหรือผ่านไปยังพื้นที่อื่นไม่ได้ พื้นที่สาธารณะที่คนเดินเท้าสามารถใช้สัญจรได้อย่างแท้จริงภายในพื้นที่จึงมีจำกัด และมักเป็น “ซอยตัน” มีเพียงถนนเรวดี ซึ่งเป็นถนนแกนหลัก ลานวัดท้ายเมือง และพื้นที่ภายในชุมชนตลาดขวัญ ที่มีการใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย เช่น ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา งานบุญ พบปะมีปฏิสัมพันธ์กันทางสังคมและเศรษฐกิจต่างๆ รวมกลุ่มเพื่อเล่นกีฬาภายในชุมชน ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่า พื้นที่ว่างสาธารณะในชุมชนท่าทรายนั้นมีจำกัด และเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมสาธารณะภายในระดับชุมชนเป็นสำคัญ (รูปที่ 8-10)

 

รูปที่  8: ชุมชนท่าทราย นนทบุรี (ที่มา: ธิติมา กลางกำจัด, 2551)

 

 

 

รูปที่  9: รูปแบบการใช้ประโยชน์อาคารในพื้นที่ชุมชนท่าทราย นนทบุรี (ที่มา: ธิติมา กลางกำจัด, 2551)

 

 

รูปที่  10: ขอบเขตพื้นที่ว่างสาธารณะในชุมชนชุมชนท่าทราย นนทบุรี (ที่มา: ธิติมา กลางกำจัด, 2551)

ความเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคมที่เกิดขึ้นกับชุมชนส่วนใหญ่ มักส่งผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่ว่างสาธารณะภายในชุมชน ตัวอย่างเช่น การขยายตัวของสิ่งปลูกสร้างหรือประโยชน์ใช้สอยใหม่ อาจมีผลทำให้พื้นที่ว่างสาธารณะถูกทำลาย เช่น เกิดจากการขยายตัวของพื้นที่พาณิชยกรรมเข้าไปในพื้นที่ว่างสาธารณะ และในกรณีที่ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนประชากร ตลอดจนมีวิถีความสัมพันธ์ทางสังคม วิถีอาชีพที่เปลี่ยนไป เช่น คนในชุมชนไม่ได้ทำการเกษตรเป็นหลักอีกต่อไป แต่มีการศึกษาดีขึ้นและออกไปรับราชการหรือทำงานบริษัทห้างร้านในเมือง ส่งผลทำให้ “รูปแบบกิจกรรม” และ “เวลาของการใช้พื้นที่” ของคนในชุมชนไม่สัมพันธ์กันอีกต่อไป ชุมชนเองก็ไม่มีความเข้มแข็งพอที่จะสร้างแนวทางร่วมกันในการสร้าง”พื้นที่ใหม่สำหรับวิถีชีวิตใหม่” หรือ “ปรับพื้นที่เก่าให้สามารถรับใช้ชีวิตใหม่” ได้ หรือหากมี ก็อาจเป็นการปรับแบบผิดวิธี ส่งผลให้พื้นที่ว่างสาธารณะสำหรับรองรับกิจกรรมทางสังคมของชุมชนลดลง

 

ในกรณีของชุมชนย่านเสาชิงช้าและชุมชนท่าทรายก็เช่นเดียวกัน แผนของกรุงเทพมหานครที่จะย้ายที่ว่าการฯ ออกไปยังที่ตั้งใหม่ ตามแผนในปี พ.ศ.2551 การพัฒนาพื้นที่ชุมชนต่อเนื่องจากถนนราชดำเนินโดยเน้นความเป็นสัญลักษณ์ของรัฐ และเพิ่มกิจกรรมทางการค้าพาณิชย์เพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้น พื้นที่ว่างสาธารณะภายในและนอกพื้นที่ชุมชนย่านเสาชิงช้ามีแนวโน้มที่จะถูกรื้อทำลาย โดยไม่มีแผนการสร้างพื้นที่ว่างสาธารณะใหม่ทดแทนพื้นที่เก่า หรือพื้นที่ใหม่ที่สร้างขึ้นอาจไม่สอดคล้องกับสำหรับวิถีชีวิตชุมชนในปัจจุบัน ส่วนชุมชนท่าทรายนั้น ก็พบแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทางบริเวณตอนใต้ของชุมชนของกรมทางหลวงชนบท เพื่อพัฒนาโครงข่ายการคมนาคม โดยเพิ่มเส้นทางการเดินรถ และลดปัญหาการจราจรที่ติดขัด แผนการรื้อถอนบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวาง ล้วนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้พื้นที่ว่างสาธารณะภายในชุมชน เนื่องจากพื้นที่ชุมชนจะมีศักยภาพในการเข้าถึงเพิ่มมากขึ้นในภาพรวมกล่าวคือ จากพื้นที่ที่เงียบสงบ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป มาเป็นพื้นที่ที่อาจมีการเข้าใช้ของคนนอกพื้นที่มากขึ้น อันจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว

 

ทั้งนี้ การสืบค้นถึงลักษณะพื้นที่ว่างสาธารณะที่สอดคล้องกับรูปแบบพฤติกรรมการใช้งานของชุมชนในปัจจุบันอย่างแท้จริงจึงมีประโยชน์และมีความน่าสนใจ เพื่อนำไปสู่การระบุรูปแบบและลักษณะการจัดวางตัวของพื้นที่ ที่เอื้อต่อการใช้งานอย่างอเนกประโยชน์และสอดคล้องกับพฤติกรรมของคนในชุมชนไทยอย่างแท้จริง ทั้งชุมชนเมืองและชุมชนชานเมือง

 

 

พื้นที่ว่างสาธารณะ และนิยามของการใช้งานอย่างอเนกประโยชน์

องค์ประกอบของพื้นที่ว่างสาธารณะที่สำคัญที่สุดในนิยามของตะวันตก คือ “ทางเท้า” (foot path) และ “คนเดินเท้า” ถือเป็นตัวสื่อ (agent) ที่สำคัญของพื้นที่ว่างสาธารณะที่ประสบความสำเร็จ นักคิดคนสำคัญอย่าง Jane Jacobs ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเดินเท้าในเมืองว่า ถนนและทางเท้าคือ ดัชนีวัดคุณภาพของเมือง เมืองที่น่าสนใจคือเมืองที่มีถนนและทางเท้าที่มีชีวิตชีวา ในทางตรงกันข้าม เมืองที่มีถนนเงียบเหงาจะให้ความรู้สึกที่น่าเบื่อหน่ายและไม่ปลอดภัย (Jacobs, 1961) สภาพแวดล้อมของการเดินเท้า ยังมีนัยยะถึง การยกระดับคุณภาพชีวิตในเมือง เนื่องจากประหยัดพลังงาน ลดมลพิษ ทำให้ผู้คนสบโอกาสมารวมตัวกัน เกิดกิจกรรมทางสังคม และมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กันอย่างหลากหลาย “เสมือนเป็นชุมชน” ในรูปแบบใหม่ที่ผู้คนไม่จำเป็นต้องรู้จักเป็นเครือญาติกัน โดย Hillier (1989) เรียกชุมชนในรูปแบบนี้ว่าเป็น “ชุมชนเสมือน” (virtual community) ซึ่งชุมชนเสมือนนี้ ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของพื้นที่ทางสังคมอย่างแท้จริง กล่าวคือ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ของการพร้อมหน้าพร้อมตา (co-presence) ของผู้คนแตกต่างหลายหลายวัตถุประสงค์ มีกิจกรรมการสัญจร (moving activity) ทั้งการสัญจรเพื่อเข้าถึงพื้นที่ (moving to) และการสัญจรเพื่อผ่านพื้นที่ (moving through) รวมทั้งกิจกรรมการจับจองพื้นที่ (static activity) ไม่ว่าจะเป็นการนั่ง ยืน จับกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ ของคนเดินเท้าหลากหลายประเภท ในหลากหลายช่วงเวลา (รูปที่ 11) ส่งผลทำให้ย่านหรือหย่อมเมืองนั้นๆ มีบรรยากาศของคนเดินเท้าที่คึกคักตลอดเวลา ไม่เงียบเหงาหรือเปลี่ยวจนอันตราย ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดของวัน พื้นที่ที่สามารถรองรับการใช้งานได้ในหลากหลายดังกล่าวทั้งในแง่ของ “คน” “กิจกรรม” และ “เวลา” จึงถือเป็นพื้นที่แบบ “อเนกประโยชน์ (multi-use) นั่นเอง

 

รูปที่  11: ปรากฏการณ์ชุมชนเสมือน (virtual community)

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผู้ให้แนวทางเชิงกายภาพในการสร้างพื้นที่ว่างสาธารณะอย่างอเนกประโยชน์นั้น ล้วนใช้การสังเกตุการณ์ประกอบการอ้างแนวทางดังกล่าวเท่านั้น โดยไม่มีหลักฐานงานวิจัยภาคสนามมาสนับสนุนอย่างเป็นระบบแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็น Jacobs (1961), Gibberd, 1967, Burden (1977), Miles et al. (1978), Lennard and Lennard (1987, 1995), Whyte (1980), Siite (ใน Collin and Collin, 1986), จนถึง Carr et al. (1995)  Jacobs เป็นผู้เริ่มต้นศึกษาถึงความมีชีวิตชีวา รวมทั้งกิจกรรมอันหลากหลายบนถนน ซึ่ง Jacobs อ้างว่าเป็นพื้นที่สาธารณะที่สำคัญที่สุดของเมือง โดยเป็นส่วนหนึ่งของการค้นหาแนวความคิดในการพัฒนาพื้นที่เมืองให้ประสบความสำเร็จ เธอกล่าวว่าถนนเปรียบเสมือนหัวใจของเมือง มีชีวิตดั่งพลังงานที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ เธอยังสนับสนุนแนวคิดของการผสมผสานการใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคาร โดยส่งเสริมการพัฒนาเมืองให้เกิดความหนาแน่นที่เหมาะสม ที่สำคัญก็คือ Jacobs อ้างว่าความหลากหลายของกิจกรรมและการใช้ประโยชน์บนพื้นที่ถนนสาธารณะนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากคุณสมบัติทางกายภาพบางประการของสิ่งแวดล้อมในเมืองเอง ตัวอย่างเช่น จำนวนประตูของอาคารที่สามารถเปิดออกสู่ถนนได้โดยตรง ช่วงทางเดินเท้าสั้นๆ ที่ต่อเนื่องกันโดยตลอด  ลักษณะเครือข่ายถนนที่เอื้อให้เกิดการเลี้ยวเดินบ่อยครั้ง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม การศึกษาของ Jacobs ยังขาดหลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจนและเป็นระบบ ว่าคุณสมบัติทางกายภาพเหล่านี้ มีบทบาทในการส่งเสริมให้เกิดความมีชีวิตชีวาบนถนนได้อย่างไร แต่ก็ถือว่า Jacobs เป็นผู้เริ่มวางแนวความคิดพื้นฐานบางประการเกี่ยวกับปัจจัยทางกายภาพหรือคุณสมบัติเชิงสัณฐานของอาคารและเมือง ในการสร้างพื้นที่สาธารณะของเมืองในยุคแรก

 

Sitte (ใน Collins and Collins, 1986) เป็นบุคคลสำคัญอีกผู้หนึ่ง ที่เสนอแนวความคิดของการจัดองค์ประกอบระหว่างที่ว่างสาธารณะในเมือง เช่น Plaza หรือ Square กับอาคารและภูมิทัศน์โดยรอบในปี ค.ศ. 1889 โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ว่างที่ควรเชื่อมต่อถึงกันอย่างเป็นระบบ ตลอดจนการกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมพอดีของพื้นที่ปิดล้อมนั้นๆ กับการใช้งานของมนุษย์และขนาดของเมือง Gibberd (1967) เป็นอีกผู้หนึ่งที่ศึกษาแนวความคิดในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ โดยเน้นคุณสมบัติทางกายภาพและสัณฐานของเมืองในเวลาต่อมา Gibberd สนับสนุนให้มีการสร้าง “จตุรัสเมือง” (urban square) เพื่อเป็น “พื้นที่ยังประโยชน์ร่วมของเมือง” (civic space) (Gibberd, 1967: 95) ที่สำคัญคือ เขาเน้นว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของจัตุรัสเมืองก็คือ ตำแหน่งที่ตั้งซึ่งควรอยู่ใกล้กับเส้นทางหรือพื้นที่ซึ่งมีระดับการสัญจรของคนเดินเท้าในอัตราที่สูง อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับ Jacobs ทั้ง Sitte และ Gibberd ไม่ได้แสดงข้อมูลหลักฐานจากการสังเกตใดๆเพื่อสนับสนุนข้ออ้างนั้น ในเวลาต่อมา ความสำคัญของการสร้างพื้นที่ว่างสาธารณะที่ประสบความสำเร็จ ถูกนำมาศึกษาโดย  Lennard และ Lennard (1985, 1987) พวกเขารวมรวมข้อมูลคุณสมบัติทางกายภาพ และประโยชน์ใช้สอยต่างๆ อันประกอบด้วย ตำแหน่งที่ตั้ง ขนาด ขอบเขต อุปกรณ์ประดับถนน และ อาคารแวดล้อมที่เป็นฉากหลังของพื้นที่สาธารณะ โครงข่ายการประสานระบบทางเดินเท้า (pedestrian network) ที่ดี-ปลอดจากการสัญจรของยวดยานพาหนะ และพื้นที่สาธารณะดังกล่าวควรทำหน้าที่เป็นจุดรวมกิจกรรม-การสัญจรของเมือง (node) ด้วย พวกเขาได้ยกตัวอย่างความสำเร็จของจัตุรัสกลางเมืองต่างๆในยุโรป และเน้นให้เห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวล้วนมีสภาพแวดล้อมของการเดินเท้าที่มีชีวิตชีวาทั้งสิ้น

 

Carr et al. (1995) ศึกษาพื้นที่สาธารณะเมืองด้วยวิธีสังเกตการณ์ รวมทั้งเก็บข้อมูลความต้องการ โอกาส และความสม่ำเสมอของการใช้งานที่ว่างสาธารณะในเมืองของคนเดินเท้า โดยเน้นการค้นหาปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสะดวก และความมีอิสระในการเข้าถึง การแสดงพฤติกรรม-การมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะต่างๆ โดยศึกษาจากตัวแปรความแตกต่างของขอบเขต-อาณาบริเวณของพื้นที่สาธารณะ และความสามารถในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ตามความต้องการในยุคสมัยต่างๆ ทีมศึกษาวิจัยของ Carr สามารถอธิบายด้วยหลักฐานข้อมูลว่า ปริมาณการใช้งานพื้นที่ว่างสาธารณะในเมืองที่ประสบความสำเร็จอย่างมากนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับลักษณะของประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่ที่ผู้ออกแบบกำหนดให้เท่านั้น แต่เป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญต่างๆ อันประกอบด้วย ความสะดวกสบาย (เช่น การเตรียมพร้อมต่อสภาพภูมิอากาศ การจัดให้มีที่นั่งพัก-ร้านอาหารอย่างพอเพียงในบริเวณ) การมีบรรยากาศเอื้อต่อกิจกรรมการพักผ่อนหย่อนใจ (เช่น พื้นที่ปลอดจากยานพาหนะ มีสภาพภูมิทัศน์ที่ดี มีองค์ประกอบทางศิลปะต่างๆ) หรือเอื้อต่อกิจกรรมที่สร้างบรรยากาศความมีชีวิตชีวา (เช่น พื้นที่สำหรับกิจกรรมบันเทิงต่างๆ เช่น เทศกาล งานฉลอง ทั้งที่ประจำและไม่ประจำ พื้นที่ที่สนับสนุนให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันโดยตรงระหว่างคน) รวมทั้ง การสร้างบรรยากาศของการค้นหาประสบการณ์เมืองในรูปแบบต่างๆ (เช่น สัณฐานที่หลากหลายของพื้นที่ ที่เอื้อให้เกิดมุมมองที่หลากหลาย)

 

แม้ว่า Lennard และ Lennard รวมทั้ง Carr et al. จะทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะสัณฐานของพื้นที่สาธารณะเมือง และรูปแบบของกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ พวกเขาก็ไม่ได้ทำการศึกษาถึงบริบทหรือโครงสร้างของเมืองซึ่งพื้นที่เหล่านี้ฝังตัวอยู่ ผู้ที่ทำการศึกษาในแง่มุมดังกล่าว ได้แก่ Burden (1977) และ Miles et al.(1978)  พวกเขาเก็บข้อมูลภาคสนามเพื่อสนับสนุนแนวความคิดที่ว่า ลักษณะและรูปแบบการใช้พื้นที่สาธารณะของคนในเมืองนั้น มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างของเมือง (urban structure) โดยตรง Burden อ้างว่า “ตำแหน่งที่ตั้ง และความสัมพันธ์กับถนน” เป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้ว่า พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในเมืองถูกใช้งาน และมีกิจกรรมสาธารณะมากน้อยเพียงใด ส่วน Miles et al. เน้นว่า “การเชื่อมต่อของมุมมอง และการเข้าถึง” ส่งผลโดยตรงต่อระดับการเข้าใช้ที่ว่างสาธารณะของคนเดินเท้า อย่างไรก็ตาม  Whyte (1980, 1988) ถือเป็นผู้นำคนแรกและคนสำคัญที่เสนอแนวความคิดที่ว่า “การเลื่อนไหลเชื่อมต่อของมุมมอง” และ “การแทรกซึมเชื่อมต่อของทางสัญจรที่มีประสิทธิภาพ” คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการสร้างพื้นที่สาธารณะเมืองที่ประสบความสำเร็จ

 

Whyte ได้ทำการสรุปผลจากการศึกษาวิจัยที่ว่างสาธารณะประเภทลาน (plaza) ขนาดเล็กหลายแห่ง ภายในเมือง ซึ่งเกือบทั้งหมดได้รับการออกแบบ-วางผังในช่วง 50 ปีก่อนหน้านั้น นัยยะสำคัญของผลการศึกษาคือ ปัจจัยทางด้านความงาม องค์ประกอบตกแต่งต่างๆ กระทั่งรูปร่างและขอบเขตของที่ว่างสาธารณะนั้น ไม่มีผลสำคัญเท่าใดนักกับระดับความนิยมในการเข้าใช้พื้นที่นั้นๆ ของคน  หรืออีกนัยหนึ่ง ความสำเร็จของพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังที่กล่าวมา Whyte เน้นว่าปัจจัยสำคัญที่แท้จริง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพของลานนั้นๆ แต่ขึ้นอยู่กับประเด็นที่ว่า พื้นที่ลานตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สัมพันธ์กับโครงข่ายทางสัญจรโดยรอบมากน้อยเพียงใด  (Whyte, 1980 : 54) องค์ประกอบสำคัญ 2 ประการที่ Whyte กล่าวว่า มีผลต่อการสร้างความมีชีวิตชีวาของพื้นที่สาธารณะเมืองก็คือ หนึ่ง- ปริมาณความหนาแน่นของการสัญจรของคนเดินเท้าในบริเวณโดยรอบพื้นที่ และสอง-ความสะดวกในการเข้าถึงและเชื่อมต่อของพื้นที่นั้นๆ กับพื้นที่อื่นๆ ในเมือง ถึงกระนั้นก็ตาม Whyte ก็ไม่ได้ทำการทดลอง หรือเสนอวิธีประเมินองค์ประกอบสำคัญทั้งสองนั้นอย่างเป็นระบบ ว่ามีค่าและมีผลต่อการเข้าใช้พื้นที่มากน้อยต่างกันอย่างไร

 

ผู้ที่เสนอประเด็นในการสร้างระบบการวัด และแสดงค่าระดับความสัมพันธ์ระหว่างรูปทรงและการจัดวางตัวของพื้นที่ หรือ “ลักษณะเชิงสัณฐาน” กับ “ลักษณะและระดับความนิยมในการใช้งานของพื้นที่” ได้แก่ Hillier ทฤษฎีที่ Hillier เสนอคือ ทฤษฎีการสัญจรอิสระ (Theory of Natural Movement) (Hillier et al., 1993) ซึ่งเป็นแนวความคิดรากฐานที่สำคัญที่สุดของเทคนิคและวิธีวิเคราะห์โครงสร้างเชิงสัณฐานของสถาปัตยกรรมและเมืองที่มีชื่อว่า “สเปซซินแทกซ์ (space syntax) (Hillier and Hanson, 1984) ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งอ้างอิงมาจากทฤษฎีเรื่องศักยภาพในการมองเห็นและเข้าถึงของพื้นที่ของ Benedikt (1979) ที่ว่า พื้นที่ที่มีศักยภาพในการมองเห็น (สนามทัศน์) และการเข้าถึงที่ดี จะเอื้อให้เกิดกิจกรรมการเข้าใช้พื้นที่ของคนเดินเท้าโดยกลุ่มคนหลากหลายประเภท ทำให้พื้นที่เกิดความคึกคักอยู่ตลอดเวลา โดยลักษณะรูปทรงและการจัดวางตัวของพื้นที่ที่แตกต่างกันทำให้ทัศนียภาพในการมองเห็นแตกต่างกันออกไปด้วย ทั้งนี้ ใช้เทคนิคทางคอมพิวเตอร์ VGA (visual graph analysis) ซึ่งเป็นเทคนิคในตระกูลสเปซซินแทกซ์ เป็นเครื่องมือวิเคราะห์รูปทรงและการจัดวางตัวของพื้นที่ในลักษณะต่างๆ (รูปที่ 12)

ก.

 

ข.

 

ค.

รูปที่  12:  การวิเคราะห์สนามทัศน์ และความสัมพันธ์กับรูปแบบพฤติกรรมการเดินเท้า (Space Syntax Laboratory, 2000)

  • การวิเคราะห์พื้นที่สนามทัศน์ด้วย VGA analysis – พื้นที่โทนร้อน คือ พื้นที่ที่มีศักยภาพในการมองเห็นและเข้าถึงสูง และพื้นที่โทนเย็น คือ พื้นที่ที่มีศักยภาพในการมองเห็นและเข้าถึงต่ำ
  • สนามทัศน์: ศักยภาพในการเข้าถึงและมองเห็นของพื้นที่ในพิพิธภัณฑ์เททบริเทน วิเคราะห์โดยเทคนิค VGA analysis
  • รูปแบบพฤติกรรมคนเดินเท้าในพิพิธภัณฑ์ฯ ที่สัมพันธ์กับพื้นที่สนามทัศน์ (ข)

 

ส่วนผู้ที่ให้แนวคิดของการสร้างพื้นที่ว่างสาธารณะอเนกประโยชน์อย่างไทยนั้น ดูเหมือนจะขาดแคลนยิ่ง อย่างไรก็ตาม ขวัญสรวง อติโพธิ (2548) นักผังเมืองผู้มีประสบการณ์การทำงานในชุมชนหลายแห่งในประเทศไทย ได้กล่าวสรุปในการบรรยายพิเศษที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไว้อย่างน่าสนใจว่า พื้นที่ว่างสาธารณะที่ดีอย่างไทยนั้นต้องมีคุณสมบัติสำคัญทางกายภาพ 5 ประการ ได้แก่

– เป็นพื้นที่ขนาดเล็กที่ “มีชั้นมีเชิง” หรือเป็นชุดของพื้นที่ขนาดเล็กที่เลื่อนไหล ต่อเนื่องเชื่อมถึงกันมองไม่เห็นภายในคราวเดียว
– นั่งพื้นได้ กล่าวคือ มีวัสดุและสัดส่วนพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับนั่งล้อมวงคุยกัน
– มีร่มเงาที่ดี เช่น ใต้ต้นไม้ ใต้เพิงพัก ชายคา ซอกอาคาร ฯลฯ
– ผูกติดกับ “การกิน” หรือมีของขายในบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ
– อยู่ริมน้ำ หรือมีน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญของพื้นที่

 

“สนามทัศน์” และพฤติกรรมการใช้พื้นที่ของคนเดินเท้า

จากแนวคิดของ Benedikt (1976) ลักษณะรูปทรงและการจัดวางตัวของพื้นที่ (form and configuration of space) ที่แตกต่างกัน ทำให้คนในพื้นที่นั้นๆ มีทัศนียภาพในการมองเห็นที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งรูปแบบพฤติกรรมการสัญจร (moving behavioral pattern) และรูปแบบพฤติกรรมการจับจองพื้นที่ (static behavioral pattern) ทัศนียภาพในการมองเห็นทั้งหมดจากจุดใดจุดหนึ่ง ที่ Benedikt เรียกว่า “สนามทัศน์” (isovist field) นั้น ย่อมจะมีขนาดเปลี่ยนแปลงไปตามรูปทรงของสิ่งปิดล้อม และการจัดวางตัวของพื้นที่นั้นๆ ที่สัมพันธ์กับพื้นที่อื่นๆ (urban spatial configuration) และจะส่งผลต่อประสบการณ์และพฤติกรรมของคนภายในพื้นที่นั้นๆ โดยตรง เช่น การเลือกเส้นทางเดินผ่าน เส้นทางการเข้าถึง บริเวณนั่ง ยืน หยุดพบปะพูดคุย มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ เป็นต้น ทั้งนี้ พื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการมองเห็น หรือมีสนามทัศน์ที่กว้างไกลและชัดเจน มีแนวโน้มที่จะเอื้อให้เกิดกิจกรรมการเข้าใช้พื้นที่อย่างหลากหลายวัตถุประสงค์ ในหลากหลายเวลา โดยกลุ่มคนหลากหลายประเภทอีกด้วย (Turner and Penn, 1999)  ดังกรอบความคิดในรูปที่ 13

 

รูปที่  13:  กรอบแนวคิดของ “สนามทัศน์” และ “ความเป็นอเนกประโยชน์” ของพื้นที่ว่างสาธารณะ
(ปราณระฟ้า พรหมประวัติ / ธิติมา กลางกำจัด, 2551)

 

วิธีการศึกษาทำโดยพิสูจน์สมมติฐานดังกล่าวผ่านกรณีศึกษาทั้งสอง โดยมีพื้นที่ว่างสาธารณะในชุมชนย่านเสาชิงช้า กรุงเทพฯ เป็นกรณีศึกษาตัวอย่างชุมชนเมือง และพื้นที่ว่างสาธารณะในชุมชนท่าทราย นนทบุรี เป็นกรณีศึกษาตัวอย่างชุมชนชานเมือง โดย 1) สำรวจรูปแบบการใช้ประโยชน์อาคาร (building use pattern) ด้วยการสำรวจพื้นที่เบื้องต้น 2) แยกประเภทพื้นที่ว่างสาธารณะทั้งหมด ตามลักษณะการเข้าถึงและปิดล้อมในรายละเอียด 3) วิเคราะห์สนามทัศน์ เพื่อระบุศักยภาพการมองเห็นและเข้าถึงของพื้นที่ว่างสาธารณะโดยใช้ VGA analysis และ 4) บันทึกรูปแบบพฤติกรรมการใช้พื้นที่ว่างสาธารณะของคนเดินเท้า (space use pattern) ทั้งรูปแบบกิจกรรมการสัญจร และกิจกรรมการจับจองพื้นที่ ด้วยการสังเกตุการณ์ภาคสนามอย่างเป็นระบบทั้งวันระหว่างสัปดาห์และวันหยุดสุดสัปดาห์ ทั้งนี้ ทำการบันทึกข้อมูลทั้งหมดในรูปแบบของ “แผนที่” ประเภทต่างๆ โดยเข้ามาตราส่วนเดียวกัน เพื่อทำการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างแผนที่ต่างๆ ดังกล่าวอย่างเป็นระบบ

 

ผลการศึกษาในรายละเอียดของพื้นที่ว่างสาธารณะในชุมชนเมืองและชุมชนชานเมืองนั้น มีความสอดคล้องกับทฤษฎีสนามทัศน์ของ Benedikt (1976) และ Turner and Penn (1999) ในระดับหนึ่งเท่านั้น ปรากฏผลว่า ระดับความเป็นอเนกประโยชน์ของพื้นที่ว่างสาธารณะในชุมชนไทยนั้น ยังมีตัวแปรอื่นๆ ในประเด็นของ “ความคุ้นเคย” ของ “คน” กับ “พื้นที่” โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็น “ซอยลัด” ที่รู้กันเฉพาะ “คนในชุมชน” เท่านั้น  และที่สำคัญก็คือ ทั้งสองชุมชนมีปรากฏการณ์ของการเข้าใช้พื้นที่ว่างสาธารณะที่สอดคล้องกับแนวคิดของขวัญสรวง อติโพธิ อย่างน่าสนใจ

 

ในกรณีของชุมชนย่านเสาชิงช้า กรุงเทพฯ พบว่า ปริมาณสนามทัศน์ (พื้นที่ที่มีศักยภาพในการมองเห็นและเข้าถึงสูง) นั้น ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับระดับความเป็นอเนกประโยชน์ในพื้นที่ว่างสาธารณะของชุมชนเท่าใดนัก ในรายละเอียดพบว่า ถึงกลุ่มคนเดินเท้าที่ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ เช่น นักท่องเที่ยว ยังต้องพึ่งพาสนามทัศน์ในการทำความเข้าใจในพื้นที่เพื่อการสัญจรหรือทำกิจกรรม ดังจะพบคนกลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณสนามทัศน์มาก แต่กลุ่มคนเดินเท้าที่คุ้นเคยกับพื้นที่อยู่แล้ว เช่น ชาวชุมชน หรือ คนทำงานประจำนั้น ไม่ได้พึ่งพาสนามทัศน์ในการเดินทางหรือทำกิจกรรม แต่มักเลือกใช้พื้นที่หรือเส้นทาง “ลัด” ที่เป็นตรอกซอกซอยในการสัญจรหรือจับจองทำกิจกรรม ซึ่งอาจเป็นพื้นที่ที่มีสนามทัศน์ที่แคบและจำกัด และเข้าถึงด้วยยานพาหนะได้ค่อนข้างลำบาก พื้นที่บางบริเวณซึ่งเป็นพื้นที่ในเชิงสัญลักษณ์ของเมือง เช่น ลานคนเมืองหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ลักษณะของพื้นที่เช่นนี้ จะมีสนามทัศน์ที่กว้างมาก มีระดับการเข้าถึงโดยยานพาหนะได้อย่างสะดวกด้วยถนนหลักที่ล้อมรอบถึงสี่ด้าน แต่กลับมีระดับความเป็นอเนกประโยชน์ต่ำมาก เนื่องจากโล่งและร้อนเกินไป หรือแม้แต่พื้นที่ภายในชุมชนสำคัญ เช่นชุมชนราชบพิธพัฒนา ที่มีสนามทัศน์แคบมาก แต่กลับมีระดับความเป็นอเนกประโยชน์สูงในบางช่วงเวลา เนื่องจากเป็นที่ตั้งของตลาดกลางแจ้ง เมื่อประมวลกับข้อมูลด้านประโยชน์การใช้ที่ดิน อาคาร และประเภทของพื้นที่ว่างที่แบ่งตามลักษณะเชิงสัณฐาน สรุปได้ว่า พื้นที่ว่างสาธารณะในชุมชนย่านเสาชิงช้าที่เป็นที่นิยมสำหรับ “คนในพื้นที่” นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับศักยภาพในการมองเห็นและเข้าถึงแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่มีคุณภาพเชิงภูมิทัศน์ที่สำคัญ เช่น ร่มเงา และมีกิจกรรมหมุนเวียนในบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายอาหารและเครื่องดื่ม มีความต่อเนื่องของทางเดินเท้าไปยังหลายๆ พื้นที่ได้อย่างสะดวกด้วย ในขณะที่ “คนนอกพื้นที่” เท่านั้นที่พึ่งพาสนามทัศน์ในการเดินทางและทำกิจกรรมในพื้นที่ (รูปที่ 14)

 

สำหรับชุมชนชานเมือง อย่างชุมชนท่าทราย นนทบุรีนั้น ผลการศึกษาในภาพรวมพบว่า ระดับสนามทัศน์มีความสัมพันธ์กับระดับความเป็นอเนกประโยชน์ในพื้นที่ว่างสาธารณะของชุมชนมากกว่าชุมชนเมืองอย่างชุมชนย่านเสาชิงช้า กล่าวคือ คนเดินเท้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่เอง มักใช้พื้นที่ที่มีสนามทัศน์ที่กว้างไกลในการสัญจรและการจับจองทำกิจกรรมต่างๆ แต่ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากพื้นที่ว่างสาธารณะหลักในชุมชนที่มีสนามทัศน์กว้างที่สุดนั้น ก็คือเส้นทางสัญจรหลัก ซึ่งมีอยู่เพียง 2 เส้น ได้แก่ ถนนเรวดี และซอยนนทบุรี 7 เท่านั้น รวมทั้งพื้นที่ว่างสาธารณะขนาดเล็กในชุมชนตลาดขวัญตั้งอยู่ริมน้ำซึ่งมีระดับสนามทัศน์ที่ดี ก็มีกิจกรรมการใช้พื้นที่ของคนเดินเท้าอย่างอเนกประโยชน์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การศึกษาในรายละเอียด พบว่า บางพื้นที่นั้นระดับสนามทัศน์ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับระดับความเป็นอเนกประโยชน์เสมอไป ตัวอย่างเช่น 1) พื้นที่ที่มีระดับสนามทัศน์ดีแต่มีประโยชน์การใช้อาคารเพียงประเภทเดียว เช่น ลานในวัดท้ายเมือง โรงเรียนศรีบุญยานนท์ มหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ นั้นมีการเข้าใช้พื้นที่โดยคนเดินเท้ามากเฉพาะบางช่วงเวลาเท่านั้น เช่นเวลาเข้า-พัก-เลิกเรียน จึงไม่ถือว่ามีระดับความเป็นอเนกประโยชน์สูง 2) พื้นที่ที่มีสนามทัศน์แคบและจำกัดอย่างถนนในหมู่บ้านณรงค์สุขนิเวศน์ แต่มีลักษณะเป็น “ซอยลัด” กลับพบการเข้าใช้พื้นที่โดยคนเดินเท้ามาก ถึงแม้จะมากเฉพาะบางช่วงเวลา เช่นตอนบ่าย-เย็นเมื่อคนในหมู่บ้านกลับจากโรงเรียนหรือที่ทำงานเท่านั้นก็ตาม เมื่อประมวลกับข้อมูลด้านประโยชน์การใช้ที่ดิน อาคาร และประเภทของพื้นที่ว่างที่แบ่งตามลักษณะเชิงสัณฐาน สรุปได้ว่า พื้นที่ว่างสาธารณะในชุมชนชานเมืองอย่างชุมชนท่าทราย นนทบุรีนั้นจะประสบความสำเร็จได้ อาจเป็นได้ทั้งพื้นที่ที่มีทั้งศักยภาพในการมองเห็นและเข้าถึง (สนามทัศน์) ที่ดี มีประโยชน์การใช้อาคารอย่างผสมผสานหลากหลาย หรือถึงแม้จะมีสนามทัศน์ที่ไม่ดีนัก แต่ควรมีลักษณะเป็น “ซอยลัด” เชื่อมต่อภายในพื้นที่ปิดล้อมของชุมชน (รูปที่ 15)

รูปที่  14:          ชุดการวิเคราะห์พื้นที่ว่างสาธารณะในชุมชนย่านเสาชิงช้า กรุงเทพฯ (ปราณระฟ้า หรหมประวัติ, 2551)

(เริ่มจากซ้ายบนและเวียนตามเข็มนาฬิกา)

ก.  รูปแบบกิจกรรมการสัญจร (moving activity) และกิจกรรมการจับจองพื้นที่ (static activity)

ในพื้นที่ว่างสาธารณะของชุมชน

ข.  ศักยภาพการเข้าถึงและมองเห็นของพื้นที่ว่างสาธารณะในชุมชน โดยการวิเคราะห์ “สนามทัศน์”

(VGA analysis)

ค.  รูปแบบของพื้นที่ว่างสาธารณะในชุมชน แยกตามลักษณะการเข้าถึงและปิดล้อม

ง.  รูปแบบการใช้ประโยชน์อาคารในพื้นที่ชุมชน

 

รูปที่  15: ชุดการวิเคราะห์พื้นที่ว่างสาธารณะในชุมชนท่าทราย นนทบุรี (ธิติมา กลางกำจัด, 2551)

(เริ่มจากบนลงล่าง)

ก.  รูปแบบกิจกรรมการสัญจร (moving activity) และกิจกรรมการจับจองพื้นที่ (static activity) ในพื้นที่ว่างสาธารณะของชุมชน

ข.  ศักยภาพการเข้าถึงและมองเห็นของพื้นที่ว่างสาธารณะในชุมชน โดยการวิเคราะห์ “สนามทัศน์” (VGA analysis)

ค.  รูปแบบของพื้นที่ว่างสาธารณะในชุมชน แยกตามลักษณะการเข้าถึงและปิดล้อม

ง.  รูปแบบการใช้ประโยชน์อาคารในพื้นที่ชุมชน

 

 

ปัจฉิมภิปราย

ผลการศึกษาเน้นให้เห็นถึงประเด็นความแตกต่างของการใช้พื้นที่ว่างสาธารณะของไทยกับตะวันตกอย่างชัดเจน กล่าวคือ ในเมืองหนาวอย่างประเทศตะวันตกนั้น นิยมการใช้พื้นที่ “โล่ง” เป็นพื้นที่ทางสังคมที่สำคัญ เนื่องจากผู้คน “โหยหา” แสงแดดเพื่อสร้างความอบอุ่น คนเดินเท้าอาจต้องพึ่งพาสนามทัศน์เป็นสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมการสัญจรเพื่อเข้าถึงและเพื่อผ่านพื้นที่ ตลอดจนทำกิจกรรมอื่นๆ กล่าวได้ว่า ทั้งคน “ใน” และ “นอก” พื้นที่ ที่มีความคุ้นเคยกับพื้นที่ในระดับที่แตกต่างกัน ล้วนเลือกเส้นทางหรือพื้นที่ในลักษณะเดียวกัน คือ การมองหาพื้นที่โล่ง หรือพื้นที่ที่มีสนามทัศน์ที่กว้างไกลในการกำหนดเส้นทางหรือจุดทำกิจกรรมของตนเอง

 

ในขณะที่เมืองไทยซึ่งเป็นเมืองร้อนนั้น ชุมชนในเมืองที่มีความแออัดหนาแน่น มักมีปัญหาจราจร ตลอดจนมีสภาพแวดล้อมของการใช้ยานพาหนะเป็นหลักนั้น ไม่นิยมการใช้พื้นที่โล่งเป็นพื้นที่ทางสังคมของชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่ดาดแข็งขนาดใหญ่ หรือพื้นที่ทางเท้าริมถนนสายหลักขนาดใหญ่ที่มีการจราจรคับคั่งหนาแน่น ซึ่งล้วนมีสนามทัศน์ที่ดี มีแต่คน “นอก” ที่ไม่มีความคุ้นเคยกับพื้นที่เท่านั้น เช่น นักท่องเที่ยว ที่ยังต้องพึ่งพาสนามทัศน์ในการสัญจรและทำกิจกรรม เนื่องจากสามารถสร้างความเข้าใจในพื้นที่ได้ง่ายกว่า จากการมองเห็นที่อื่นๆ ที่ต่อเนื่องรอบทิศทางจากจุดที่ยืนอยู่ แต่หากมีความคุ้นเคยพื้นที่เป็นอย่างดีแล้ว เช่น คนในชุมชนเอง กลับมีแนวโน้มที่จะเลือกใช้ “ซอยลัด” ที่มีลักษณะเป็นตรอกหรือทางเดินเท้าเล็กๆ ในชุมชน ที่ลัดเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายภายในที่รู้กันเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ในการทำกิจกรรมทั้งสัญจรและเป็นพื้นที่ทางสังคม พื้นที่เหล่านี้ มักมีสัณฐานที่คับแคบ ยานพาหนะเข้าถึงได้ไม่สะดวก หรืออีกนัยหนึ่ง มีสนามทัศน์ที่จำกัด แต่มีร่มเงาต่อเนื่อง เกิดเป็นลักษณะของการใช้ “พื้นที่เล็กๆ” เป็นกระเปาะของกิจกรรมต่างๆ เกาะตัวเชื่อมกันเป็นแนวยาวตามถนนซอยภายใน เป็นพื้นที่ปะทะสังสรรค์อย่างไม่มีพิธีรีตรองของผู้คนในชุมชน โดยพื้นที่เหล่านี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ถูกออกแบบเป็นพื้นที่ว่างสาธารณะโดยเฉพาะแต่อย่างใด ไม่มีการใช้พลังงานเชื้อเพลิงของยานพาหนะ เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ มีแต่การเดินเท้า ร่มเงาจากชายคาอาคาร ต้นไม้ เป็นพื้นที่ทางสังคมขนาดเล็กๆ ที่มีชั้นเชิงในการเชื่อมต่อของมุมมองจากพื้นที่สู่พื้นที่

 

อย่างไรก็ดี ในชุมชนชานเมืองนั้น มักจะไม่มีคนนอกเข้าไปใช้พื้นที่ปะปนเท่าใดนัก ตลอดจนตรอกซอกซอยก็ไม่ได้เป็นพื้นที่โอบล้อมให้ร่มเงาที่ดี เนื่องจากสิ่งปลูกสร้างมีความหนาแน่นต่ำ โดยมีลักษณะเป็น “ซอยกำแพงรั่ว” กล่าวคือ มีสิ่งปลูกสร้างกระจัดกระจายไม่ต่อเนื่อง และมีที่โล่งว่างเลื่อนไหลทะลุถึงกันเป็นส่วนใหญ่ ระดับความเป็นอเนกประโยชน์จึงกลับเกิดบนถนนสายหลักที่เป็นแกนกลาง ที่มักมีเพียงไม่กี่เส้นเท่านั้นในชุมชน ซึ่งถนนแกนหลักเหล่านี้มีสนามทัศน์ที่ดีอยู่แล้วในภาพรวม และโดยเฉพาะเป็นถนนที่มีสิ่งปลูกสร้างโอบล้อมอยู่มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเส้นทางหรือพื้นที่อื่นๆ อาจกล่าวได้ว่า ผู้คนยังคงเลือกพื้นที่หรือเส้นทางที่มีการโอบล้อมของมวลอาคารที่มีแนวโน้มว่าจะสร้างร่มเงาให้กับการเดินเท้าได้เป็นสำคัญ และถ้าเส้นทางนั้นมีสนามทัศน์ที่ดีด้วย รวมทั้งสะดวกในการเชื่อมต่อไปยังที่อื่นๆ มีกิจกรรมการค้าพาณิชย์ขายเครื่องอุปโภค-บริโภคเรียงรายตลอดทาง พื้นที่หรือเส้นทางนั้นก็จะเป็นที่นิยม มีระดับความเป็นอเนกประโยชน์สูงเช่นกัน

 

ดังนั้น อาจสรุปได้ว่าสนามทัศน์ไม่ได้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการสร้างให้เกิดพื้นที่ทางสังคมที่ดีสำหรับคนไทย คนไทยมักนิยมพื้นที่ขนาดเล็ก ที่เชื่อมต่อๆ กันไปตามแนวทางสัญจร ปัจจัยบวกที่น่าสนใจคือ การมีร่มเงาที่ดีจากมวลอาคารที่โอบล้อม / การที่พื้นที่ว่างสาธารณะนั้นๆ เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางลัดที่สามารถเชื่อมต่อไปยังที่อื่นๆ ได้โดยไม่ต้องผ่านที่โล่งแจ้ง / การมีกิจกรรมการค้าพาณิชย์ไม่ว่าจะเป็นประเภทถาวร (ในอาคาร) หรือแบบชั่วคราว (ตลาดนัด รถเข็น เพิงขายอาหาร ฯลฯ) ในบริเวณที่ผ่าน ส่วนศักยภาพในการมองเห็นที่ดีนั้น เป็นเพียงปัจจัยเสริมของการใช้พื้นที่ว่างสาธารณะอย่างอเนกประโยชน์ของชุมชนไทย

 

เป็นที่น่าสนใจและอาจเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ที่คุณลักษณะของพื้นที่สาธารณะแบบไทยไทยตามแนวคิดของขวัญสรวง อติโพธิ อีกสองประการ อันได้แก่ ลักษณะของพื้นที่ที่เอื้อต่อการ “นั่งพื้น” และมีความผูกพันกับน้ำ ที่ไม่ได้มีโอกาสทำการศึกษาในวิทยานิพนธ์ทั้งสองฉบับนี้ จะถูกทำการสืบค้นต่อไปโดยผู้วิจัย โดยมีความคาดหวังว่า ความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ทางสังคมของไทยในศาสตร์ของการวางผังเมืองจะมีสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไปในที่สุด

 

* หมายเหตุ  บทความนี้ดัดแปลงจากบทประมวลและสังเคราะห์วิทยานิพนธ์ ทุนวิจัยมหาบัณฑิต สกว. 2550

ในกลุ่มหัวข้อ สนามทัศน์และรูปแบบการใช้พื้นที่ว่างสาธารณะของชุมชน / กันยายน 2551

 

บรรณานุกรม

ขวัญสรวง อติโพธิ. (2548). บรรยายพิเศษ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ. (2548). วาทกรรมของเมืองผ่านโครงสร้างเชิงสัณฐาน. เอกสารวารสารวิชาการภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปราณระฟ้า พรหมประวัติ. (2551). สนามทัศน์และรูปแบบการใช้พื้นที่ว่างสาธารณะของชุมชนในเมือง: กรณีศึกษา ชุมชนย่านเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ธิติมา กลางกำจัด. (2551). สนามทัศน์และรูปแบบการใช้พื้นที่ว่างสาธารณะของชุมชนชานเมืองกรณีศึกษา ชุมชนท่าทราย นนทบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต. ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Batty, M., 2000. Exploring isovist fields: space and shape in architectural and urban morphology.

Benedikt, M.L. 1979. To Take Hold of Space: Isovists and Isovists Fields. Environment and Planning B, 6, p.47-65

Burden, A. (1977). Greenacre Park. New York: Project for Public Spaces.

Carr, S. et al. (1995).  Public Space. Cambridge: Cambridge University Press.

Gibberd, F. (1967). Town Design. London: The Architecture Press.

Hillier, B. and Hanson, J. 1984. The Social Logic of Space, Cambridge, U.K. , Cambridge University Press

Hillier, B. (1989). The Architecture of the Urban Object. In Ekistics. 334-January / February, 335-March/April, 5-20

Hillier, B. (1996). Space is the Machine. Cambridge, MA. , Cambridge University Press

Jacobs, J. 1961. The Death and Life of Great American Cities. England: Penguin Books.

Lennard, S. and H. Lennard (1987).  Livable Cities – People and Places: Social and Design Principles for the Future of the Cities. Southampton: Gondolier Press.

Lennard, S. and H. Lennard (1995).  Livable Cities Observed.  Southampton: Gondolier Press.

Miles, D.et al. (1978). Plaza for People. New York: Project for Public Spaces.

Norberg-Schulz, C. (1969). Meaning in Architecture. In Meaning in Architecture. Ed C.Jencks. London: The Cresset Press

Turner, A. and Penn, A. 1999. Making isovists syntactic: isovist integration analysis.

Paper presented at the 2nd International Symposium on Space Syntax, Brasilia.

Relph, E. (1976). place and placelessness. London: Pion Limited.

Whyte, William H. 1980. The Social Life of Small Urban Space. Washington D.C.:       Conservation Foundation.