ข้อมูลเมือง ถึงผู้ (ไม่) มีสิทธิ์

ข้อมูลเมือง ถึงผู้ (ไม่) มีสิทธิ์

 

สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทยทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงและส่งเสริมกลุ่มของสถาปนิกและเหล่านักออกแบบเพื่อยกระดับวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรมผังเมืองไปพร้อมกับการพัฒนาเมืองเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น สถาปัตยกรรมผังเมือง คือ งานออกแบบโครงสร้างของเมือง พื้นที่สาธารณะ และงานสถาปัตยกรรมที่เชื่อมโยงในเรื่องของผังเมืองรวมและนโยบายเพื่อวางผังในเชิงพื้นที่เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน แต่ในปัจจุบันนั้นการพัฒนาหรืองานสถาปัตยกรรมนั้นส่วนใหญ่นั้นถูกมุ่งเน้นที่การพัฒนาเฉพาะพื้นที่และกลุ่มอาคารเป็นหลักทำให้ความเชื่อมโยงของเมืองนั้นถูกละเลย กลุ่มสถาปนิก นักวิชาการและเหล่านักออกแบบจึงเป็นส่วนสำคัญในการนำเสนอแนวทางในการพัฒนาเมืองไปในทิศทางที่ถูกต้องและควรจะเป็น

การเสวนาครั้งนี้เป็นการนำเสนอแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ผ่าน 5 ประเด็นที่เกิดขึ้นมหานครกรุงเทพฯในหัวข้อ “ข้อมูลถึงเมืองผู้(ไม่)มีสิทธิ์” ซึ่งจัดขึ้นเมืองวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 เวลา 19:00 – 20:30 ผ่านเพจ นักข่าวพลเมือง TPBS, TUDA, CUURP, Urban Ally และดําเนินการเสวนา โดย ผศ.คมกริช ธนะเพทย์ อุปนายกฯฝ่ายยุทธศาสตร์ เพื่อร่วมกันนำเสนอแนะแนวทางการพัฒนาเมืองและส่งต่อแนวคิดนี้ไปถึงผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่จะมีการเลือกตั้งจากประชาชนที่ใกล้เข้ามานี้ เพื่อให้ทุกคนรับรู้และมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน เพื่อช่วยจุดประกายการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วม

 

อ.ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ อุปนายกฯ ฝ่ายวิชาการ

 

สิ่งที่อยู่ในโครงสร้างเมืองและการเชื่อมโยงระบบขนส่ง

 

“ละแวกบ้านอยู่อาศัยสบาย เดินทางเข้าถึงได้สะดวก มีทางเลือกที่หลากหลาย” นี่คงเป็นเป้าหมายในหลากหลายเมืองที่มุ่งหวังเพื่อพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน แต่เมื่อมองย้อนกรุงเทพมหานครคงปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงห่างไกลจากเป้าหมายอยู่มากนัก จึงเป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถามว่าอะไรที่ทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าเที่ยวติดอันดับต้นๆของโลกแต่การเป็นเมืองน่าอยู่นั้นกลับสวนทางกันอย่างประหลาดใจ

กรุงเทพมหานครนั้นถึงแม้จะเป็นเมืองที่ผู้คนใช้รถยนต์บุคคลเป็นหลักแต่ระบบการขนส่งสาธารณะนั้นกลับมีความหลากหลาย โดยจากการคาดการณ์รูปแบบการเดินทางในปี พ.ศ. 2572 หรืออีก 7 ปีต่อจากนี้ ผู้คนจะมีการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลลดลงและพึ่งพิงระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น สิ่งน่าตั้งคำถามคือความหลากหลายของระบบขนส่งสาธารณะของกรุงเทพมหานครนั้นส่งผลอย่างไรต่อผู้สัญจรในเมือง กว่าร้อยละ 12 ของการรูปแบบการเดินทางทั้งหมดหรือร้อยละ 21 ของรูปแบบการขนส่งสาธารณะทั้งหมดคือตัวเลขของผู้คนใช้มอเตอร์ไซค์ในการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆเพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย นี่จึงทำให้เห็นได้ว่าโครงข่ายการเดินทางของเมืองนั้นยังมีพื้นที่ที่ขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่เช่น รถเมล์หรือรถไฟฟ้ายังไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงเกิดทางเลือกของรูปแบบขนส่งสาธารณะที่หลากหลายเพื่อให้ตอบรับกับพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน

อ.ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ เล่าประเด็นปัญหาและวิเคราะห์ข้อมูลผ่านโปรแกรม Space Syntax ถึงลักษณะโครงสร้างเมืองของกรุงเทพมหานครที่เชื่อมโยงโครงข่ายระบบขนส่งการเดินทาง โดยกรุงเทพมหานครนั้นเป็นเมือง “Super Block” คือการมีถนนสายหลักนั้นตีกรอบล้อมรอบตัดผ่านกันในขนาดใหญ่และพื้นที่ในกรอบนั้นจะถูกแยกย่อยด้วยถนนสายรองไม่เชื่อมโยงเข้าถึงกันอย่างที่ควรจะเป็นซึ่งแตกต่างจากเส้นทางหลักที่เชื่อมถึงกันทำให้เส้นทางหลักนั้นมีบทบาทสำคัญสำหรับการเดินทางรวมถึงการเป็นแหล่งรวมตัวของกิจกรรมและความสะดวกสบายต่างๆของผู้คน ทำให้ผู้คนมารวมตัวใช้เส้นทางหลักในการใช้ชีวิตจนเกิดปัญหาการจราจรติดขัดอย่างที่เห็นในปัจจุบัน เมื่อมองลึกไปถึงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะนั้นจะพบว่าระบบขนส่งสาธารณะยังคงยึดโยงอยู่บนเส้นทางสายหลักอยู่มากและไม่เชื่อมต่อกับถนนสายรองที่เป็นโครงข่ายย่อยทำให้ผู้คนไม่มีทางเลือกในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะมากนัก

อ.ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ วิเคราะห์ให้เห็นถึงว่าผู้คนในกรุงเทพมหานครนั้นสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างไรบ้าง โดยการเข้าถึงระบบรางนั้นมีเส้นทางและสถานีกระจุกตัวอยู่มากในบริเวณโซนกลางเมืองรวมไปถึงพื้นที่ CBD (Central business district) แต่ไม่มีการกระจายตัวไปในพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพมหานคร เมื่อมาดูที่ระบบของรถเมล์จะพบว่าจุดขึ้น-ลงจะกระจุกตัวอยู่บริเวณย่านเมืองเก่า CBD (Central business district) และอนุเสาวรีย์ที่เป็นจุดเปลี่ยนผ่านหลักของการเดินทาง ในบริเวณฝั่งธนฯและเขตรอบนอกเมืองยังมีอยู่น้อยผู้คนในบริเวณจึงต้องพึ่งการขนส่งรูปแบบอื่นเช่น รถกะป๊อ วินมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น เพื่อให้เข้าถึงสถานที่ต่างๆได้อย่างสะดวกสบาย

ระบบการขนส่งทางรถ-ราง ในกรุงเทพมหานครเมื่อนำไปเทียบกับเมืองอย่างลอนดอน เมืองหลวงของประเทศอังกฤษจะพบว่า ระบบการขนส่งสาธารณะมีการกระจายตัวและสามารถเชื่อมโยงได้กับทุกพื้นที่ ถึงแม้ในพื้นที่ที่โครงสร้างของระบบขนส่งทั้งรถไฟฟ้าหรือรถเมล์เข้าไม่ถึง การใช้จักรยานหรือการเดินเท้ายังเป็นทางเลือกให้ผู้คนสามารถใช้เพื่อเข้าถึงสถานที่ต่างๆได้ นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของเมืองที่มีการถักทอและเชื่อมโยงโครงข่ายการสัญจรจะช่วยให้ผู้คนนั้นมีทางเลือกและอิสรภาพในการเดินทาง

เมื่อวิเคราะห์ถึงระยะทางที่ผู้สัญจรจะสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ นั้นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4 กม. และระบบรางนั้นมีมากถึง 10 กม. ซึ่งศักยภาพระยะการเดินเท้าของคนไทยอยู่ที่ 800 เมตร ทำให้มีความลำบากในการเข้าถึงระบบต่างๆคนจึงนิยมใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในการเดินทางรวมถึงใช้ระบบขนส่งรูปแบบอื่นเพื่อเชื่อมโยงกับระบบขนส่งสาธารณะ

จากปัญหาระบบการขนส่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร อ.ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ ได้กล่าวทิ้งทายถึงข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งในอนาคตสำหรับผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นด้วยกันได้แก่

  1. No – one solution fits all neighbourhoods ละแวกบ้านนั้นมีความหลากหลายของความเป็นอยู่และปัญหาจึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและปรับเปลี่ยนตามบริบทของแต่ละพื้นที่
  2. Fragmented City โครงสร้างสัณฐานเมืองที่กระจัดกระจายซับและโครงข่ายขนส่งมวลชนไม่เชื่อมโยงกับชุมชนทำให้การเดินทางโดยทางเท้านั้นไม่สะดวกและใช้เวลานาน
  3. Last mile challenge รูปแบบการเดินทางที่ช่วยเชื่อมโยงจากระบบขนส่งสาธารณะเข้าสู่พื้นที่เป้าหมายจะช่วยให้กลุ่มคนตัวเล็กในพื้นที่ต่างๆมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

คุณปรีดา หุตะจูฑะ กรรมการฝ่าย ประสานเครือข่ายพันธะมิตรวิชาชีพ

 

การพัฒนาที่ดินของรัฐและที่ดินกึ่งรัฐในกรุงเทพหน้าที่ใคร

 

กรุงเทพมหานครมีพื้นที่โดยประมาณ 980,460 ไร่ โดยพื้นที่ของราชภัสดุประมาณ 40,000 ไร่ โดยคุณปรีดา หุตะจูฑะ ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นของตำแหน่งที่ตั้งของพื้นที่รัฐขนาดใหญ่ เนื่องจากพื้นที่ของรัฐที่มีขนาดใหญ่นั้นมักตั้งอยู่ในจุดสำคัญของกรุงเทพมหานครจนเกิดเป็น Super block ทำให้การเดินทางไกลเกินกว่าที่ควรจะเป็นเนื่องจากต้องอ้อมพื้นที่ของภาครัฐขนาดใหญ่เพื่อไปถึงจุดหมาย ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่โครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐในทางกลับกันภาคเอกชนที่มีการสร้างโครงการขนาดใหญ่แล้วตัดขาดการเชื่อมโยงการสัญจรก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุเช่นกัน

คุณปรีดา หุตะจูฑะ เปรียบเทียบเมืองอย่าง ชิคาโก้ แมนฮัตตัน รวมถึงเมลเบิร์นที่เมืองนั้นมีขนาดบล๊อคอยู่ที่ระยะทางโดยประมาณ 100-200 เมตร เหมาะสมสำหรับการเดินเท้าแต่เมื่อเทียบกับกรุงเทพมหานครนั้นมีระยะของ super block ขนาดใหญ่ประมาณ 5 กม. ซึ่งพื้นที่ของรัฐขนาดใหญ่ที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้นั้นก็เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

จากปัญหาโครงข่ายเมืองของกรุงเทพมหานครที่เป็น Super block จากพื้นที่ของรัฐหรือกึ่งรัฐที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ คุณปรีดา หุตะจูฑะ ได้กล่าวทิ้งทายถึงข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงข่ายเมืองในอนาคตสำหรับผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง โดยแบ่งออกเป็น 6 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่

  1. การผลักดันมาตรการทางผังเมืองเพื่อแก้ปัญหา Super block ให้เกิดโครงข่ายเชื่อมโยงและย่อยเมืองให้มีขนาดเล็กลงเพื่อการเดินทางที่ง่ายขึ้น
  2. Planned Unit Development (PUD) ข้อกำหนดการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ การหาข้อตกลงร่วมกันสำหรับพื้นที่กึ่งรัฐหรือพื้นที่เอกชนในโครงการขนาดใหญ่ให้สามารถมีความกับเชื่อมโยงกับพื้นที่โดยรอบได้โดยอาจเป็นการมีสิทธิพิเศษมากกว่าข้อกำหนดผังเมือง
  3. Goverment District การร่วมกันวางผังและออกแบบย่านราชการเนื่องจากพื้นที่โครงการรัฐที่มีขนาดใหญ่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเชื่อมโยงเมืองถูกตัดขาด การออกแบบและวางผังควรคำนึงถึงการเชื่อมโยงโดยรอบเพื่อลดปัญหา Super block
  4. การผลักดันให้ กทม. มีส่วนร่วมในการกำหนดโปรแกรมการพัฒนาพื้นที่ของภาครัฐ เพื่อให้โครงการต่างๆของภาครัฐนั้นเป็นการพัฒนาอยู่บนความต้องการของคนกรุงเทพมหานคร

คุณปรีดา หุตะจูฑะ กล่าวทิ้งท้ายถึงบทบาทหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนต่อไปนั้นการทำงานตามหน้าที่ในตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายคงไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องมองภาพรวมของกรุงเทพมหานครเพื่อสร้างสรรค์การแก้ปัญหาให้ตรงจุดและหลากหลายเพื่อตอบรับกับปัญหาของพื้นที่ที่แตกต่างกัน

 

อ.ดร.พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณี กรรมการฝ่ายบริการสังคมฯ

 

บ้านของคนเมือง อยู่ที่ไหนได้บ้าง

 

กรุงเทพมหานครนั้นถูกนิยามว่าเป็นเมืองโตเดี่ยวที่มีผู้อยู่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากปัญหาความต้องการที่อยู่อาศัยจึงเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยในปัจจุบันความต้องการที่อยู่อาศัยของกลุ่มของผู้มีรายได้ในทุกระดับตั้งแต่กลุ่มคนผู้มีรายได้น้อยไปจนถึงกลุ่มผู้มีรายได้สูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่อยู่อาศัยนั้นกลับไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้มีรายได้ทุกกลุ่มได้ เนื่องจากที่อยู่อาศัยใยปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นนั้นมีราคาค่อนข้างสูงทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือแม้กระทั่งกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางนั้นเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ยากลำบากเกิดช่องหว่างของความเหลื่อมล้ำทางที่อยู่อาศัยมากขึ้น

อ.ดร.พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณี นำเสนอแนวทางการทำงานของผู้ว่ากทม.ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มคนและลดปัญหาช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางที่อยู่อาศัยโดยมีประเด็นดังนี้

  1. การพัฒนาข้อมูลที่ดินและที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้น กทม. ควรเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางมากขึ้นเพื่อประโยชน์ของผู้คนในเมือง
  2. จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นร่วมกับสำนักงานเขตในการตรวจทานข้อมูลเพื่อสร้างการเชื่อมต่อในระดับพื้นที่
  3. ขยายผลของโครงการต้นแบบเพื่อให้เกิดขึ้นได้จริงในหลายๆพื้นที่
  4. การพัฒนาที่อยู่อาศัยไม่ควรมองเพียงแค่ที่อยู่อาศัยหรือตัวอาคารแต่การพัฒนาควรมองถึงภาพกว้างในระดับเมืองเพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านต่างๆ
  5. การออกบัญญัติเพื่อดึงดูดให้เกิดการสร้างที่อยู่อาศัยที่หลากหลายและตอบโจทย์กับผู้มีรายได้ทุกกลุ่มรวมถึงผังเมืองรวมนั้นไม่สอดคล้องกับปัจจุบันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย

อ.ดร.พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณี กล่าวปิดท้ายถึงบริบทของที่อยู่อาศัยในบริบทเมืองของไทยนั้นผู้คนมักมองเป็นเพียงที่อยู่อาศัยทั้งที่จริงแล้วที่อยู่อาศัยควรถูกเชื่อมโยงเข้ากับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆในบริเวณรอบๆเพื่อยกระดับชีวิตของผู้อยู่อาศัยมิเช่นนั้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยจะยิ่งทำให้ผู้คนตัดขาดจากเมืองถูกทิ้งและทำให้โดดเดี่ยว

 

ข้อมูลกายภาพเมืองกับการอยู่รอดของพลเมือง” 

 

ผศ.ดร.สมลักษณ์ บุญณรงค์

 

กรุงเทพมหานครนั้นมีการจัดทำฐานข้อมูลเมืองที่มีคุณภาพ โดยเริ่มมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้ข้อมูลมาเป็นรูปแบบออนไลน์มากขึ้นเพื่อให้ประชาชนหรือหน่วยงานต่างๆเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบาย แต่ข้อมูลเหล่านี้ยังคงมีข้อบกพร่องในด้านของการนำไปใช้ทั้งการวิเคราะห์ผลรวมถึงประกอบการเผยแพร่ทางด้านวิชาการเนื่องจากต้องมีการทำการขออนุญาติรวมไปถึงรูปแบบการบันทึกข้อมูลนั้นยังคงทำได้ยากก่อให้เกิดอุปสรรคในการทำงาน ผศ.ดร.สมลักษณ์ บุญณรงค์ แนะนำแนวทางการพัฒนารูปแบบข้อมูลกายภาพรวมถึงการพัฒนาเมืองเพื่อให้ตอบรับกับปัจจุบันสำหรับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อไป โดยข้อเสนอแนะแนวทางนั้นมีแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่

  1. การสร้างคลังข้อมูลกรุงเทพมหานครรวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มในการรวบรวมข้อมูลงานวิจัย รายงานการศึกษา GIS และสถิติต่างๆเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและดาวน์โหลดได้ง่าย โดยอาจอัพเดทข้อมูลตามงบประมาณที่ได้รับ
  2. การพัฒนาเมืองโดยกระจายอำนาจสู่ชุมชน พร้อมทั้งทำงานร่วมกันเพื่อทำแผนพัฒนาเขตให้ตอบรับกับรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในแต่ละพื้นที่
  3. พัฒนา Data เป็นรูปแบบแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายรวมไปถึงอาจเป็นการเพิ่มช่องในการร่วมกันพัฒนาเมืองร่วมกันอย่างมีส่วนร่วมและตอบรับกับพื้นที่นั้นๆอย่างตรงจุด

 

ธนบุรีย่านเก่าคนเดิม จะอยู่ร่วมกับเมืองกรุงสมัยใหม่อย่างไร

 

 ผศ.ดร.ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย

 

“ธนบุรีไม่มีศูนย์กลางเป็นของตัว” ผศ.ดร.ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย กล่าวถึงลักษณะของพื้นที่ธนบุรีในปัจจุบันโดยในสมัยก่อนนั้นธนบุรีเป็นย่านเพื่อพักอาศัยเป็นหลักจนเมืองเริ่มมีการขยายตัวมากขึ้นทำให้บทบาทของธนบุรีเริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่แก้ปัญหาให้กับฝั่งพระนครและกรุงเทพมหานคร เช่น การจัดการน้ำนั้นจะต้องมีการผันน้ำไปทางตะวันตกผ่านฝั่งธนบุรีหรือโครงการขยายคลองฝั่งธนฯ จะพบได้ว่าบทบาทหน้าที่ของฝั่งธนฯยังขาดความเป็นศูนย์กลางของตัวเองการขาดแหล่งงานในพื้นที่ทำให้ผู้คนทางฝั่งธนฯจะเข้ามาเพียงเพื่อพักอาศัยและเดินทางข้ามฝั่งเพื่อไปทำงาน ฝั่งธนฯจึงเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองได้

“ธนบุรีอยู่ใกล้เหมือนอยู่ไกล” ผศ.ดร.ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย อธิบายถึงพื้นที่ฝั่งธนฯที่มีศักยภาพอยู่ใกล้ศูนย์กลางเมืองแต่เมื่อเดินทางกลับไกลกว่าที่ควรจะเป็นเนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะนั้นเมื่อเอื้อต่อพื้นที่บริเวณฝั่งธนฯ มักไปกระจุกตามกลางเมืองและบริเวณย่าน CBD (Central business district) รวมถึงบริเวณฝั่งธนฯนั้นมีตรอกซอกซอยย่อยเป็นจำนวนมากจนเกิดพื้นที่ตาบอดที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง

การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะบริเวณฝั่งธนฯจากลักษณะของพื้นที่ที่มีซอยย่อยเป็นจำนวนมากทำให้ระบบขนส่งต่างๆเข้าถึงได้ยากและไม่เอื้อต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ผศ.ดร.ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย เสนอแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในบริเวณพื้นที่ฝั่งธนฯได้อย่างน่าสนใจว่าการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในบริเวณฝั่งธนฯนั้นควรพัฒนาตามศักยภาพและวิถีชีวิตของพื้นที่ ถึงแม้ว่าฝั่งธนฯจะมีพื้นที่อยู่ใกล้เคียงกับบริเวณศูนย์กลางเมืองแต่ด้วยโครงข่ายถนนที่ซับซ้อนรวมถึงถูกย่อยเป็นขนาดเล็กทำให้การเดินทางด้วยการขนส่งสาธารณะไม่สามารถเข้าได้อย่างทั่วถึง แต่เส้นทางทางน้ำนั้นเป็นศักยภาพที่มาทดแทนปัญหาตรงนี้ได้เนื่องจากฝั่งธนฯนั้นมีคลองที่สามารถเชื่อมโยมเข้าถึงพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทางน้ำอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฝั่งธนฯนั้นมีระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพและมีอัตลักษณ์สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่

กรุงเทพมหานคร  ผศ.ดร.ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย ได้กล่าวทิ้งทายถึงข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่บริเวณฝั่งธนฯสำหรับผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นด้วยกันได้แก่

  1. ส่งเสริมเศรษฐกิจเพื่อให้ผู้คนมีงาน รวมไปถึงจะช่วยลดการเดินทางเข้าไปสู่พื้นที่ต่างๆได้
  2. กำหนดยุทธศาสตร์ให้ธนบุรีวางแผนพัฒนาและอนุรักษ์ร่วมกันให้เกิดการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ให้มีเอกลักษณ์สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
  3. การพัฒนาระบบคูคลองไม่ใช่เพียงแค่เพื่อสร้างระบบโครงข่ายการสัญจรแต่จะต้องสร้างพื้นที่กิจกรรมเพื่อช่วยยกระดับของผู้อยู่อาศัย

 

เสวนาปิดท้ายเรื่อง “250 ปี กทม. มีเรื่องมากกว่า การฉลองกรุงรัตนโกสินทร์”ดําเนินการเสวนา โดย ผศ.คมกริช ธนะเพทย์ อุปนายกฯฝ่ายยุทธศาสตร์ ตั้งคำถามถึงกรุงเทพมหานครในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ควรจะเป็นอย่างไรและผู้ว่ากทม.นั้นควรวางตนและมีบทบาทหน้าที่อย่างไร

 

อ.ดร.พีรียา บุญชัยพฤกษ์ กล่าวถึงการพัฒนาเมืองที่มีความยืดหยุ่นผู้คนสามารถปรับตัวรับกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ดีขึ้น เป็นเมืองที่ผู้คนมีเสรีภาพในการใช้ชีวิตมากขึ้น มีทางเลือกในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับรายได้ของผู้อยู่

 

นายปรีดา หุตะจูฑะ กล่าวถึงบทบาทของผู้ว่ากทม.นั้นควรเป็นนักเจรจาเพื่อหาข้อสรุปจากหน่วยงานต่างๆที่หลากหลายเพื่อนำมาซึ่งประโยชน์ของประชาชน การทำงานตามหน้าที่บนตำแหน่งที่ได้รับอาจไม่เพียงพอต่อการพัฒนาในยุคสมัยนี้เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนที่รวดเร็วผู้ว่าจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมและมองหาแนวทางการแก้ปัญหาใหม่ในตอบรับกับยุคสมัยในปัจจุบัน

 

อ.ดร.พงษ์พิศิษฐ์ หุยากรณี กล่าวถึงบทบาทของผู้ว่ากทม. ในเรื่องของการทำความเข้าใจในด้านการพัฒนาเมืองนั้นจำเป็นจะต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานกว่าจะเห็นผมซึ่งอาจมากกว่าวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ว่ากทม. การพัฒนาควรเป็นการวางรากฐานเพื่ออนาคตรวมถึงบทบาทของการทำงานที่ควรจะทำงานโดยสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานและกลุ่มประชาชนเพื่อสร้างกลไกที่จะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาที่รอบด้านและตรงจุด

 

ผศ.ดร.สมลักษณ์ บุญณรงค์ กล่าวถึงบทบาทการทำงานของผู้ว่ากทม. ถึงรูปแบบการทำงานนั้นควรเป็นการทำงานแบบกระจายอำนาจเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆเพื่อการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและรวดเร็ว

 

ผศ.ดร.ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย กล่าวถึงการทำงานของผู้ว่ากทม.ในหลายประเด็น

– การผลักผลลัพธ์ของการพัฒนาเมืองในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิมโดยที่ผ่านมามักทำในสิ่งที่เป็นกายภาพแต่ในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอ เช่น การให้ข้อมูล ให้ความรู้นั้นเป็นสิ่งสำคัญในปัจจุบัน

– การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากการทำงานแบบ top-down เป็นการ collaboration มากขึ้นเพื่อสร้างสิ่งใหม่จากจุดเด่นของผู้ร่วมพัฒนาเมือง

– ควรมองการพัฒนาเมืองในปัจจุบันเป็นการพัฒนาเพื่อวางรากฐานของเมือง และควรทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องไม่มีการแทรกแซง

– ในอีก 10 ปีข้างหน้าสิ่งที่สำคัญกว่าการฉลองกรุงเทพฯ 250 ปี คือการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและถูกต้องในทิศทางที่ควรจะเป็น

 

สุดท้ายนี้การเสวนามุ่งเน้นในการตั้งคำถามกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครเพื่อหาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขร่วมกันในการพัฒนาเมืองได้อย่างตรงจุดและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนรวมถึงการมองเมืองกรุงเทพมหานครในอีก 10 ปีข้างหน้าร่วมกันเพื่อหาแนวทางการพัฒนาและกำหนดบทบาทของผู้ว่าฯ กทม. จะต้องเข้ามามีบทบาทอย่างไรสำหรับการวางรากฐานเมืองเพื่ออนาคต นี่คงเป็นวาระอันดีสำหรับการเลือกตั้งเพื่อเลือกผู้ว่าฯ กทม. จึงหวังว่าการเสวนาในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยต่อแนวทางการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานครรวมถึงการเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยในการมองนโยบายของการพัฒนากรุงเทพมหานครสำหรับผู้ว่าฯ กทม. คนถัดไปที่จะเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนากรุงเทพมหานคร