Title Image

ประวัติสมาคม

ประวัติสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย

สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย เกิดจากการรวมตัวกันของสถาปนิกผังเมือง โดยผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมฯ ประกอบด้วย

  1. คุณหญิงจรัสศรีทีปิรัช
  2. ว่าที่ ร.ต. บุญจง สนธิทิม
  3. ดร.อุทิศ ขาวเธียร
  4. นายเจตกำจร พรหมโยธีและ
  5. นายภราเดช พยัฆวิเชียร

ได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2545 โดยจะสนับสนุนสภาสถาปนิกในการกำกับดูแลวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมืองตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติสถาปนิกพุทธศักราช 2543 ทั้งนี้สภาสถาปนิกมีหน้าที่กำกับดูแลวิชาชีพสถาปัตยกรรม 4 สาขา ได้แก่ สถาปัตยกรรมหลัก สถาปัตยกรรมผังเมือง สถาปัตยกรรมตกแต่งภายในและมัณฑนศิลป์ และภูมิสถาปัตยกรรม สมาคมฯได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสมาคมฯโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เดิมสมาคมฯใช้ชื่อว่าสมาคมสถาปนิกชุมชนเมืองไทย สำนักงานที่ตั้งอยู่ที่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยมี คุณหญิงจรัสศรีทีปิรัช เป็นนายกสมาคมฯคนแรก ดร.อุทิศ ขาวเธียร เป็นอุปนายกสมาคมฯ และว่าที่ ร.ต. บุญจง สนธิทิม เป็นเลขาธิการสมาคมฯ

ต่อมาสมาคมสถาปนิกชุมชนเมืองไทยได้เปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย และย้ายสำนักงานมาที่อาคารสภาสถาปนิก เลขที่ 12 ถนนพระราม 9 ซอย 36 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทยเป็นสมาคมฯวิชาชีพที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบวางผังชุมชน และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกทั้งหมดกว่า 600 คน ประกอบด้วย สมาชิกกิตติมศักดิ์ สมาชิกสามัญ สมาชิกภาคี สมาชิกสมทบ สมาชิกนิติบุคคล และสมาชิกทั่วไป

สมาคมฯมีบทบาทหน้าที่ให้การสนับสนุนการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง เพื่อให้มีความปลอดภัยและเกิดประโยชน์สุขต่อสาธารณะ นอกจากนั้นยังมีหน้าที่สนับสนุนทางวิชาการให้ความรู้ความคิดเห็นที่เกี่ยวเนื่องกับสถาปัตยกรรมผังเมือง (Urban design) หรือการออกแบบชุมชนเมือง ให้กับหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชนและต่อสาธารณะชน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาเมือง และสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน บ้านเมือง และประเทศชาติ ดังคำขวัญสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทยที่ว่า “สถาปนิกผังเมือง เราสร้างสรรค์พื้นที่เพื่อทุกคน”

วัตถุประสงค์

  1. วัตถุประสงค์ของสมาคม

    1.1 เพื่อสนองตอบตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติสถาปนิกสาขาสถาปัตยกรรมผังเมืองพุทธศักราช 2543
    1.2 เพื่อส่งเสริมความเป็นปึกแผ่น ความรักสามัคคี มีจรรยาบรรณ และจริยธรรม ในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง
    1.3 เพื่อส่งเสริม สร้างสรรค์ พัฒนา วิทยาการ ความรู้ วิชาการและทักษะของสมาชิกเพื่อให้ประกอบวิชาชีพเป็นไปอย่างถูกต้อง
    1.4 เพื่อเผยแพร่ ให้บริการ และให้ความรู้ ข้อมูลและความเข้าใจเรื่องชุมชนเมือง ต่อสาธารณะชน และหน่วยราชการ
    1.5 เพื่อประสาน เสริมสร้าง ร่วมมือในกิจกรรม กับผู้ร่วมสาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรมอื่น ตามพระราชบัญญัติสภาสถาปนิก พุทธศักราช 2543

ข้อบังคับสมาคม

1. ความทั่วไป

  1. นามสมาคม สมาคมนี้มีนามว่า สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ย่อว่า ส ผ ม เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า THAI URBAN DESIGNERS ASSOCIATION ย่อว่า T U D A
  2. เครื่องหมาย เครื่องหมายของสมาคมมีลักษณะเป็นรูป การออกแบบสถาปัตยกรรมผังเมืองมีความหมายดังต่อไปนี้ ด้านบน ปรากฎชื่อภาษาไทย สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ด้านล่างปรากฎชื่อภาษาอังกฤษ THAI URBAN DESIGNERS ASSOCIATION เส้นตาราง หมายถึงโครงร่างของชุมชนหรือเมือง รูปกลุ่มอาคาร 3 มิติ หมายถึงการวังผังและออกแบบที่ครอบคลุมถึง 3 มิติ ยอดแหลมบนกลุ่มอาคาร หมายถึง ลักษณะไทยและวัฒนธรรมไทย วงกลม หมายถึงความเป็นสากล
  3. สำนักงาน สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ ณ อาคารสภาสถาปนิก เลขที่ 12 ถนนพระราม 9 ซอย 36 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
  4. วัตถุประสงค์ของสมาคม
    • เพื่อสนองตอบตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติสถาปนิกสาขาสถาปัตยกรรมผังเมืองพุทธศักราช 2543
    • เพื่อส่งเสริมความเป็นปึกแผ่น ความรักสามัคคี มีจรรยาบรรณ และจริยธรรม ในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง
    • เพื่อส่งเสริม สร้างสรรค์ พัฒนา วิทยาการ ความรู้ วิชาการและทักษะของสมาชิกเพื่อให้ประกอบวิชาชีพเป็นไปอย่างถูกต้อง
    • เพื่อเผยแพร่ ให้บริการ และให้ความรู้ ข้อมูลและความเข้าใจเรื่องชุมชนเมือง ต่อสาธารณะชน และหน่วยราชการ
    • เพื่อประสาน เสริมสร้าง ร่วมมือในกิจกรรม กับผู้ร่วมสาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรมอื่น ตามพระราชบัญญัติสภาสถาปนิก พุทธศักราช 2543

2. สมาชิก

5. ประเภทสมาชิก

5.1 สมาชิกสามัญแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

(1) สมาชิกสามัญ ประเภท ก ได้แก่

ก.ผู้สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปสาขาสถาปัตยกรรมผังเมืองหรือการออกแบบชุมชนเมือง (Urban Design) หรือสาขาอื่นที่เทียบเท่าที่สภาสถาปนิกรับรองวุฒิการศึกษา

ข.ผู้สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปสาขาสถาปัตยกรรมหรือสาขาภูมิสถาปัตยกรรมและศึกษาต่อในสาขาผังเมือง (Urban Planning) หรือสาขาอื่นที่เทียบเท่าที่สภาสถาปนิกรับรองวุฒิการศึกษา

ค.ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมสาขาสถาปัตยกรรมผังเมืองจากสภาสถาปนิก

(2) สมาชิกสามัญ ประเภท ข ได้แก่

ก.ผู้สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสาขาสถาปัตยกรรม หรือสาขาภูมิสถาปัตยกรรมมประสบการณ์ในการปฏิบัติวิชาชีพทางสถาปัตยกรรมผังเมือง (Urban Design) และ หรือ ผังเมือง (Urban Planning) หรือในชื่ออื่นที่เทียบเท่ามีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย

ข.ผู้สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสาขาการบริหารชุมชนเมือง (Urban Affairs) หรือในชื่ออื่นที่เทียบเท่ามีประสบการณ์ในการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง (Urban Design) และ หรือ ผังเมือง (Urban Planning) ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย

ค.ผู้ที่มีประสบการณ์ในการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง (Urban Design) มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารของสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย

5.2  สมาชิกนิติบุคคล

ได้แก่ สมาชิกซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง และได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมประเภทนิติบุคคลจากสภาสถาปนิกแล้ว

5.3  สมาชิกสมทบ

ก.  ผู้สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสาขาสถาปัตยกรรม สาขาภูมิสถาปัตยกรรม สาขาการบริหารชุมชนเมือง (Urban Affairs) หรือในชื่ออื่นที่เทียบเท่า

ข.  ผู้ที่มีประสบการณ์ในการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง (Urban Design) มาเป็นเวลาน้อยกว่า 15 ปี และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารของสมาคม

ค.  ผู้สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป จากสาขาวิชา การผังเมือง

ง.  ผู้สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป จากสาขาอื่นที่มิใช่สถาปัตยกรรม แต่ทำการศึกษาเพิ่มเติมในสาขาวิชา การผังเมือง

จ. ผู้สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป สาขาอื่นที่มิใช่สถาปัตยกรรม แต่ทำการปฏิบัติวิชาชีพทางสถาปัตยกรรมผังเมือง หรือการผังเมือง มาน้อยกว่า 15 ปี

5.4  สมาชิกภาคี

ได้แก่ผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในหลักสูตรสถาปัตยกรรมผังเมือง ที่สภาสถาปนิกรับรอง ระดับปริญญาตรีตั้งแต่ปีที่ 3 ขึ้นไป หรือระดับปริญญาโทขึ้นไป

5.5  สมาชิกกิตติมศักดิ์

บุคคลหรือสถาบัน ที่มีชื่อเสียงและหรือมีคุณวุฒิ และประสบการณ์ในการศึกษาหรือการพัฒนาชุมชนเมืองมาแล้ว โดยการพิจารณาของกรรมการบริหาสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทยเชิญมาเป็นสมาชิก

5.6  สมาชิกทั่วไป

ได้แก่บุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ ต้องการได้รับความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องสาธารณะ สิ่งแวดล้อม ทางกายภาพของชุมชน ชุมชนเมืองที่เกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรมผังเมือง และต้องการมีส่วนร่วมในกิจกรรม ให้ความร่วมมือกับสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย เพื่อเสริมสร้างวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมืองให้ก้าวหน้า

6. คุณสมบัติของสมาชิก

บุคคลที่จะเข้าเป็นสมาชิกต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  • เป็นผู้มีคุณสมบัติตามประเภทสมาชิก
  • เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อยไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
  • ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
  • ไม่เป็นผู้เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารของสมาคมเห็นว่าอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อสมาคม และต่อวิชาชีพ
  • ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือมีจิตฟั่นเฟือน

7. ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุง

  • สมาชิกสามัญ
    • จะต้องเสียค่าสมัครและค่าลงทะเบียนครั้งแรก 100 บาท ค่าบำรุงตลอดชีพ 2,000 บาท
  • สมาชิกนิติบุคคล
    •  จะต้องเสียค่าสมัครและค่าลงทะเบียนครั้งแรก 100 บาท ค่าบำรุงทุก 5 ปีจดทะเบียนนิติบุคคล 10,000 บาท
  • สมาชิกสมทบ
    • จะต้องเสียค่าสมัครและค่าลงทะเบียนครั้งแรก 100 บาท ไม่มีค่าบำรุงรายปี
  • สมาชิกภาคี
    • จะต้องเสียค่าสมัครและค่าลงทะเบียนครั้งแรก 100 บาท ไม่มีค่าบำรุงรายปี
  • สมาชิกกิตติมศักดิ์
    • มิต้องเสียค่าสมัครและค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงแต่อย่างใดทั้งสิ้น
  • สมาชิกทั่วไป
    • จะต้องเสียค่าสมัครและค่าลงทะเบียนครั้งแรก 100 บาท ไม่มีค่าบำรุงรายปี

8. การเข้าเป็นสมาชิก

การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อนายทะเบียนโดยมีสมาชิกสามัญวิชาชีพรับรองอย่างน้อย 1 คน เมื่อนายทะเบียนตรวจสอบว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติและวุฒิถูกต้องตามข้อบังคับของสมาคมแล้ว  ให้นายทะเบียนนำใบสมัครเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารเพื่อพิจารณาว่าจะรับเข้าเป็นสมาชิกสมาคมหรือไม่ และเมื่อคณะกรรมการบริหารพิจารณาการสมัครแล้วผลเป็นประการใดให้นายทะเบียนเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว

9. การลงทะเบียนเป็นสมาชิก

ถ้าคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติ ให้รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสมาคม ก็ให้สมัครนั้นชำระค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียน และสมาชิกภาพของผู้สมัครให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัคร ได้ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

10. สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์

ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ตอบรับคำเชิญ

11. การขาดจากสมาชิกภาพ

ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้

  • ตาย
  • ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการบริหาร
  • ขาดคุณสมบัติสมาชิกข้อใดข้อหนึ่งใน ข้อ 6
  • ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมหรือคณะกรรมการบริหาร มีมติให้ถอนชื่อออกจากทะเบียนสมาชิกเพราะสมาชิกผู้นั้นประพฤติเสียหาย และนำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม
  • สมาชิกผู้นั้นค้างชำระค่าบำรุงสมาคม หรือค้างชำระหนี้สินอื่นที่มีต่อสมาคมและยังคงเพิกเฉยไม่ชำระเงินที่คงค้างหลังจากเหรัญญิกสมาคมได้มีหนังสือแจ้งขอให้ชำระเงินที่คงค้างแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง และให้เวลาในการชำระเงินดังกล่าวแล้วไม่น้อยกว่า 90 วัน และคณะกรรมการบริหารมีมติให้ถอนชื่อออกจากทะเบียนสมาชิก

12. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

  • สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกนิติบุคคล สมาชิกสมทบ สมาชิกภาคี และสมาชิกกิตติมศักดิ์ และสมาชิกทั่วไปมีดังนี้
    • มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน
    • มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคม ต่อคณะกรรมการบริหาร
    • มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม
    • มีสิทธิเข้าร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
    • มีสิทธิได้รับบริการของสมาคมตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารกำหนด
    • มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติและข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด
    • มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
    • มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ของสมาคม
  • สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสามัญมีสิทธิและหน้าที่เหมือนกับในข้อ 12.1 ทุกประการ แต่มีสิทธิและหน้าที่ เพิ่มขึ้น ดังต่อไปนี้
    • มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่สมาคมจัดให้มีขึ้น
    • มีสิทธิในการเสนอชื่อผู้ที่เห็นสมควรเป็นกรรมการบริหารสมาคมมีสิทธิ์ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมและมีสิทธิ์ในการได้รับแต่งตั้ง เป็นกรรมการบริหารสมาคมและมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุมได้คนละ 1 คะแนนเสียง
    • มีสิทธิร้องขอเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 5 คน ของสมาชิกสามัญร้องขอต่อกรรมการบริหารเพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม
    • มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 3 ของสมาชิกสามัญ ร้องขอคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
    • มีหน้าที่เผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

3. คณะกรรมการสมาคม

ให้มีคณะกรรมการสมาคม 2 คณะ คณะที่หนึ่งคือคณะกรรมการบริหาร ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมคณะที่สองคือคณะกรรมการที่ปรึกษา ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการทั้งสองคณะได้มาจากการแต่งตั้งโดยนายกสมาคม

13. คณะกรรมการบริหาร

13.1 คณะกรรมการบริหาร ต้องมาจากสมาชิกสามัญ และมีจำนวนอย่างน้อย 11 คน อย่างมากไม่เกิน 15 คน ประกอบด้วย

(1) นายยกสมาคมคือผู้ซึ่งได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากอุปนายกรับเลือกเมื่อนายกสมาคมคนก่อนหมดวาระ

(2) อุปนายก

(ก) อุปนายกรับเลือก หรืออุปนายกคนที่ 1 คือผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาและดำรงตำแหน่งอุปนายกจนกระทั่งนายกสมาคมคนก่อนหมดวาระ จึงเลื่อนขึ้นรับตำแหน่งนายกสมาคมทั้งนี้ อุปนายกคนที่ 1 ต้องทำหน้าที่แทนนายกสมาคม หากนายกสมาคมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

(ข) อุปนายกฝ่าย มีฐานะเป็นกรรมการสมาคม และได้รับแต่งตั้งจากนายกสมาคมให้รับผิดชอบการดำเนินงานของสมาคมในฝ่ายต่างๆ ตามความจำเป็น

(3) เลขาธิการ

(4) นายทะเบียน

(5) เหรัญญิก

(6) ประชาสัมพันธ์

(7) กรรมการอื่นๆ นอกเหนือจากข้างต้น แต่ต้องมีจำนวนรวมกันแล้วไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับกำหนดไว้

13.2 หน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร

(1) บริหารสมาคมให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสมาคม รักษาผลประโยชน์ของสมาคมและสมาชิกของสมาคม และรับผิดชอบในกิจการทั้งหมดรวมทั้งการเงินและทรัพย์สินของสมาคม

(2) จัดทำนโยบายและแผนพัฒนาของสมาคมทั้งในระยะสั้น (2ปี) และระยะยาว (5ปีขึ้นไป)เพื่อความเจริญก้าวหน้าของสมาคมตลอดจนปรับปรุงการบริหารของสมาคมให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคม

(3) จัดทำโครงการและแผนปฎิบัติการในระยะ 2 ปี ที่เข้ามาทำการบริหารสมาคม โดยมีแผนประจำปีที่กำหนดแผนงานและโครงการพร้อมทั้งเป้าหมาย ตลอดจนกลยุทธในการที่จะทำให้แผนปฏิบัติการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายตามที่ได้ตั้งเอาไว้

(4) จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีตามข้อบังคับ

(5) จัดประชุมใหญ่วิสามัญตามที่สมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกสามัญทั้งหมดได้เสนอชื่อร้องขอให้จัดขึ้น โดยจะต้องจัดให้มีการประชุมดังกล่าวภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ

(6) จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สิน และการดำเนินการต่างๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ

(7) จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆ ของสมาคมเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน

(8) มีหน้าที่อื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

13.3 หน้าที่ของกรรมการบริหาร

(1) นายกสมาคม มีหน้าที่เป็นตัวแทนสมาคมและเป็นประธานคณะกรรมการบริหารในการบริหารสมาคมให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้สมาคมเป็นที่รู้จัก และยอมรับในสังคม

(2) อุปนายกสมาคม มีหน้าที่ช่วยเหลือหรือเป็นตัวแทนนายกสมาคมในการบริหารสมาคมตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกสมาคม

(3) เลขาธิการ มีหน้าที่จัดการบริหารสมาคมเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลักของสมาคม และหรือเป็นไปตามนโยบายของกรรมการบริหาร โดยมีอำนาจในการจัดหา แต่งตั้ง สั่งการและธุรกรรมทุกชนิด เพื่อความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว

(4) นายทะเบียน มีหน้าที่รับสมัคร ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่สมัครเป็นสมาชิก สมาคมลงทะเบียนสมาชิกของสมาคมและแก้ไขทะเบียนสมาชิกให้สอดคล้องกับสถานะและที่อยู่ที่เปลี่ยนไปของสมาชิก ตลอดจนทำบัญชีทรัพย์สินอุปกรณ์และดูแลเอกสารของสมาคม

(5) เหรัญญิก มีหน้าที่ดูแลการเงินการบัญชีของสมาคม จัดทำแผนการเงินบรรจุลงในแผนปฏิบัติการของคณะกรรมการบริหาร รวมทั้งดูแลผลประโยชน์ด้านการเงินของสมาคม

(6) ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่หาข้อมูล และสรุปข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสมาคม รวมทั้งให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้านสถาปัตยกรรมชุมชนเมืองต่อสมาชิกและประชาชนทั่วไป

(7) กรรมการอื่นๆ มีหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกสมาคม

13.4 การได้มาซึ่งคณะกรรมการบริหาร

(1) คณะกรรมการบริหารชุดแรก ให้ผู้เริ่มจัดตั้งสมาคมและผู้ที่แสดงความจำนงที่จะเป็นสมาชิกของสมาคมเป็นผู้เลือกตั้ง ซึ่งประกอบด้วย นายกสมาคม อุปนายกสมาคม และกรรมการอื่นๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับ เมื่อคณะกรรมการบริหารชุดแรกครบวาระการดำรงตำแหน่งให้อุปนายกสมาคมคนที่ 1 เลื่อนขึ้นรับตำแหน่งนายกสมาคม และดำเนินการสรรหาอุปนายกสมาคมรับเลือกตามขบวนการสรรหาในข้อ 13.4(2) และ(3)

(2) คณะกรรมการบริหารชุดต่อๆ ไป ภายใน 60 วัน ก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการบริหาร ให้คณะกรรมการบริหารแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอุปนายกสมาคมรับเลือกโดยคัดเลือกจากสมาชิกสามัญ อย่างน้อย 5 คน

(3) ให้คณะกรรมการสรรหาอุปนายกรับเลือกดำเนินการขอให้สมาชิกสามัญแต่ละคนเสนอชื่อสมาชิกสามัญที่เห็นว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นกรรมการบริหารสมาคม จำนวน 5 คน และให้คณะกรรมการสรรหาอุปนายกรับเลือก ดำเนินการให้ผู้ที่ได้รับคะแนนการเสนอชื่อมากที่สุดจำนวน 30 คนแรก เลือกอุปนายกรับเลือกกันเอง โดยให้ดำเนินการจนถึงขั้นได้ผลการสรรหาอุปนายกรับเลือกคนใหม่ ภายใน 45 วัน นับจากวันแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอุปนายกรับเลือก

(4) เมื่อได้อุปนายกรับเลือกคนใหม่มาแล้ว ให้อุปนายกรับเลือกคนเดิมเลื่อนขึ้นรับตำแหน่งนายกสมาคม

(5) ให้นายกสมาคมแต่งตั้งกรรมการบริหารสมาคมตามจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับภายใน 15 วันโดยกรรมการบริหารซึ่งนายกสมาคมแต่งตั้งนี้ จะต้องประกอบด้วยสมาชิกสามัญที่ได้รับคะแนนการเสนอชื่อเป็นกรรมการบริหารมากที่สุด 30 คนแรก ตามข้อ 13.4(3) อย่างน้อยกึ่งหนึ่ง

(6) คณะกรรมการบริหารจะมีหน้าที่เบื้องต้น คือ จัดทำนโยบายและแผนพัฒนาซึ่งประกอบด้วย โครงการ แผนปฎิบัติการ วิธีการ และกลยุทธในการบริหารงาน โดยมีคณะกรรมการบริหารชุดเดิมเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ ทั้งนี้เพื่อให้มีการต่อเนื่องของนโยบายการพัฒนาระยะยาว และให้นายกสมาคมใหม่แถลงนโยบาย ต่อสมาชิกในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีในปีที่ครบวาระของคณะกรรมการบริหาร

(7) ให้นายกสมาคมคนใหม่ยื่นจดทะเบียนคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องภายใน 7 วัน นับจากวันที่นายกสมาคมได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารครบตามข้อบังคับ

(8) ให้คณะกรรมการบริหารชุดเดิมส่งมอบงานให้แก่คณะกรรมการชุดใหม่ ภายใน 7 วัน นับจากวันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับจดทะเบียนจากทางราชการ

14. วาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการบริหาร

14.1 คณะกรรมการบริหารของสมาคม อยู่ในตำแหน่งได้วาระละ 2 ปี นับจากวันที่ได้รับจดทะเบียนจากทางราชการ หากครบวาระแล้ว แต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับจดทะเบียนจากทางราชการ ก็ให้
คณะกรรมการบริหารที่ครบวาระแล้ว รักษาการไปก่อนจนกว่าคณะกรรมการบริหารชุดใหม่จะได้รับการ
จดทะเบียนจากทางราชการ ก็ให้คณะกรรมการบริหารที่ครบวาระแล้ว รักษาการไปก่อนจนกว่าคณะกรรมการบริหารชุดใหม่จะได้รับจดทะเบียนจากทางราชการ

14.2 กรรมการบริหารอาจจะพ้นจากตำแหน่ง นอกเหนือจากการออกตามวาระในกรณีต่อไปนี้ คือ

(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) ขาดคุณสมบัติสมาชิกข้อใดข้อหนึ่ง
(4) ที่ประชุมใหญ่มีมติให้พ้นจากตำแหน่ง

14.3 กรรมการบริหารที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่ง ให้ยื่นใบลาออกต่อคณะกรรมการบริหารและให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการบริหารมีมติให้ลาออก

14.4 ถ้านายกสมาคมต้องพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าในกรณีใด ให้อุปนายกคนที่ 1 รักษาการเป็นนายกสมาคมแทนแต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนนั้นจะอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากับวาระของนายกสมาคมซึ่งตนดำรง ตำแหน่งแทนเท่านั้น

14.5 ถ้ากรรมการบริหารตำแหน่งอื่นต้องพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าในกรณีใด ให้นายกสมาคมแต่งตั้งสมาชิกสามัญที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนภายใน 7 วัน แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนนั้นจะอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากับวาระของผู้ที่ตนดำรงตำแหน่งแทนเท่านั้น

15. อำนาจของคณะกรรมการบริหาร ในการบริหารกิจการของสมาคม ให้คณะกรรมการบริหารมีอำนาจต่อไปนี้

15.1 ออกระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติตาม โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้

15.2 แต่งตั้งและถอดถอนผู้จัดการและเจ้าหน้าที่สมาคม

15.3 แต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา อนุกรรมการ และกรรมการอื่นๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้ได้โดยให้อยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการบริหารที่แต่งตั้ง

15.4 เรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญบริหารกิจการของสมาคมเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆ ตามที่ ข้อบังคับกำหนดไว้

16. การประชุมคณะกรรมการบริหาร

16.1 คณะกรรมการบริหารจะต้องประชุมกัน เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

16.2 การประชุมคณะกรรมการบริหารจะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดตาม ข้อ 13.1 จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม สำหรับมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนั้น หากข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก

16.3 ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมเลือกกรรมการบริหารท่านใดท่านหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

17. คณะกรรมการที่ปรึกษา

17.1 คณะกรรมการที่ปรึกษา ต้องมาจากอดีตนายกสมาคม และหรืออดีตกรรมการบริหาร จำนวนอย่างน้อย 5 คน อย่างมากไม่เกิน 7 คน โดยหนึ่งคนต้องเป็นอดีตนายกสมาคมที่เพิ่งหมดวาระ

17.2 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการที่ปรึกษา

(1) ให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่นายกสมาคม และคณะกรรมการบริหาร
(2) ดำเนินการในเรื่องที่ได้รับมอบหมายจากนายกสมาคม
(3) นอกจากจะต้องประชุมกันเองตามความจำเป็นแล้ว คณะกรรมการที่ปรึกษาจะต้องเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริหารทุกครั้งที่มีการประชุมแต่ไม่มีสิทธิ์ลงมติในที่ประชุม

17.3 วาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการที่ปรึกษา
คณะกรรมการที่ปรึกษาอยู่ในตำแหน่งได้วาระ 2 ปี ตามวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการบริหาร

4. การประชุมใหญ่

18. การประชุมใหญ่ของสมาคมมี 2 ประเภทคือ

18.1 ประชุมใหญ่สามัญประจำปี

18.2 ประชุมใหญ่วิสามัญ

19. คณะกรรมการบริหารจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีละ 1 ครั้ง ภายในเดือนสิงหาคมของ ทุกปี

20. การประชุมใหญ่วิสามัญ เป็นการประชุมสมาชิกสมาคมซึ่งคณะกรรมการบริหารจัดขึ้นเมื่อเห็นว่ามีเรื่อง สมควรเสนอสมาชิกสมาคมพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ หรือเมื่อมีสมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของ สมาชิกสามัญทั้งหมด ร่วมกันลงนามในหนังสือถึงคณะกรรมการบริหารขอให้จัดประชุมขึ้น

21. การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกทราบ และการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรโดยระบุวัน เวลา สถานที่จัดประชุม ไว้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่

22. การประชุมใหญ่สามัญประจำปี ต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้

22.1 แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี

22.2 แถลงบัญชีรายรับ-รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมา

22.3 นายกสมาคมแนะนำคณะกรรมการบริหารชุดใหม่และแถลงนโยบาย (เฉพาะในปีที่ครบวาระปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหาร)

22.4 แต่งตั้งผู้สอบบัญชี

22.5 เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)

23. ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกสามัญทั้งหมดจึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกสามัญไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการบริหารเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน 14 วัน นับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก สำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้ไม่ว่ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วม ประชุมเป็นจำนวนเท่าใดก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม ยกเว้นถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการ ร้องขอของสมาชิก ไม่ต้องจัดประชุมใหม่ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก

24. การลงมติต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็น เกณฑ์ แต่หากคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในที่ประชุมชี้ขาด

25. ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกกรรมการบริหารท่านใดท่านหนึ่งที่มาร่วมประชุมทำหน้าที่เป็น ประธานในการประชุมใหญ่คราวนั้น

5. การเงินและทรัพย์สิน

การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหาร เงินสดของสมาคมถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคารในบัญชีของสมาคม

26. การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม ให้นายกสมาคม เหรัญญิก และเลขาธิการ จำนวน 2 ใน 3 ลงนามร่วมกัน และประทับตราของสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้

27. ให้นายกสมาคม มีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 50,000.-บาท (ห้าหมื่นบาท) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหาร

28. ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน 30,000.-บาท (สามหมื่นบาท) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันที

29. ผู้ตรวจสอบบัญชีจะต้องไม่เป็นกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมและจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับใบอนุญาต

30. ผู้ตรวจสอบบัญชี มีอำนาจที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากกรรมการบริหารและสามารถจะเชิญกรรมการบริหาร หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินของสมาคมได้

31. กรรมการบริหารและเจ้าหน้าที่สมาคม จะต้องให้ความร่วมมือกับผู้ตรวจสอบบัญชีเมื่อได้รับการร้องขอ

6. การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

32. การแก้ไขข้อบังคับของสมาคมจะทำได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกสามัญทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุมหรือดำเนินการตาม ข้อ 22 และมติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด

33. การเลิกสมาคมจะทำได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคมเท่านั้น ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของ กฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกสามัญ ที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด และจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญ ทั้งหมด

34. เมื่อสมาคมต้องเลิกไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตกเป็นของสภาสถาปนิก หรือ นิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมืองและชุมชนเมือง หรือเพื่อการกุศลสาธารณประโยชน์ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมใหญ่

7. บทเฉพาะกาล

35. ข้อบังคับฉบับนี้ให้เริ่มใช้บังคับได้ตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป

36. เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มก่อการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญ

 

ลงชื่อ
(นายวิชัย ตันตราธิวุฒิ)
นายกสมาคมฯผู้จัดทำข้อบังคับ