มองความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับศิลปินในสิงคโปร์ผ่าน The Art of Charlie Chan Hock Chye

ดร. เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ

วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

 

ผู้เขียนและทีมวิจัยได้ไปลงพื้นที่เก็บข้อมูลการวิจัยที่ประเทศสิงคโปร์นอกเหนือจากการสัมภาษณ์นักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของสิงคโปร์แล้ว พวกเรายังได้แวะเวียนไปที่ร้านคิโนะคุนิยะ ซึ่งเป็นร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์

ร้านคิโนะคุนิยะอยู่ในห้างสรรพสินค้าหงี่ อัน ซิตี้(Ngee Ann City)ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางถนนออร์ชาร์ดถนนสายช็อปปิ้งของสิงคโปร์ เป็นร้านหนังสือที่มีพื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางเมตร ภายในบรรจุหนังสือหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นหนังสือวิชาการ หรือหนังสืออ่านเล่ม แต่สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนตื่นเต้นที่สุดเมื่อไปเยือนร้านหนังสือแห่งนี้ คือหนังสือนิยายภาพ (Graphic novel) ความยาวประมาณสามร้อยกว่าหน้าที่วางอยู่ในมุมไฮไลท์ของร้าน

หนังสือนั้นชื่อว่าดิ อาร์ต ออฟชาร์ลี ชาน ฮอค ชาย(The Art of Charlie Chan Hock Chye)เป็นนิยายภาพที่ถูกวาดขึ้นโดยนักเขียนการ์ตูนชื่อ ซอนนี่ หลิว (Sonny Liew)

หนังสือเล่มนี้สำคัญอย่างไร? ก่อนหน้านี้ในปี 2558 สื่อสิงคโปร์และสื่อต่างประเทศได้รายงานข่าวเรื่อง National Arts Council (NAC)หน่วยงานของรัฐบาลสิงคโปร์ที่ทำหน้าที่สนับสนุนงานศิลปะ ได้ประกาศถอนทุนสนับสนุนหนังสือเรื่อง The Art of Charlie Chan Hock Chyeจำนวน 8,000 สิงคโปร์ดอลล่าร์ หรือประมาณ 200,000 บาท เนื่องจากตรวจสอบพบว่าหนังสือดังกล่าว ‘มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม’และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้เขียนตื่นเต้นเมื่อเห็นหนังสือเล่มนี้วางขายอยู่กลางร้านคิโนะคุนิยะผู้เขียนรีบคว้าหนังสือดังกล่าวไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ เพื่อที่จะพิสูจน์ว่า ‘เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม’ ตามที่ NAC กล่าวถึงนั้นเป็นอย่างไร

ผู้เขียนอ่าน และพบว่าหนังสือเล่มนี้มีตัวละครหลักชื่อชาร์ลี ชาน หรือ ชาน ฮอค ชายหนังสือเปิดเรื่องในปี 2553ที่นายชาร์ลีอายุ 72 ปี ก่อนจะเล่าย้อนอดีตของชาร์ลีในวัยเด็กเด็กชายชาร์ลีชอบวาดรูปและมีความฝันจะเติบโตเป็นศิลปินนักวาดการ์ตูนผู้โด่งดัง แต่เมื่อโตขึ้น เขาก็รู้ว่าการทำให้ฝันเป็นจริงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อาชีพนักวาดการ์ตูนของชาร์ลีประสบปัญหาหลายต่อหลายครั้ง ในขณะเดียวกันประเทศสิงคโปร์ก็เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

บันทึกชีวิต’ของชาร์ลี ชานเล่มนี้ จึงเป็นเสมือน ‘บันทึกประวัติศาสตร์’ ของสิงคโปร์ โดยผ่านชีวิตของสามัญชนอย่างนายชาร์ลี

แต่ทว่า ซอนนี่ หลิวนักเขียนการ์ตูนเรื่องนี้ ได้แทรกตัวละครสำคัญตัวหนึ่งเข้าไปในเนื้อเรื่องด้วย ซึ่งก็คือนายลีกวนยูบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์สมัยใหม่

ลีกวนยู ปรากฎอยู่ในเนื้อเรื่องของ The Art of Charlie Chan Hock Chyeหลายหน ลายเส้นที่ ซอนนี่ หลิว ใช้วาดรูป ลีกวนยู บ่งบอกว่าเขาเป็นตัวร้ายมากกว่าตัวดี และนายลีกวนยูในเรื่องก็มักใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ทางการเมือง ในเนื้อหาตอนหนึ่ง ตัวละครอย่างชาร์ลีได้วาดการ์ตูนเรื่อง ‘SinkaporInks’ เล่าเรื่องราวของโรงงานผลิตเครื่องเขียนที่มีเจ้าของโรงงานหน้าตาคล้ายกับลีกวนยูและแฝงการวิพากษ์นโยบายการบริหารประเทศของ ลีกวนยู

ผู้เขียนเริ่มเข้าใจว่าเหตุใด NAC จึงถอนทุนสนับสนุนหนังสือเล่มนี้ ทั้งที่หนังสือเล่มนี้มีความคิดสร้างสรรค์หลายอย่างในแง่การเล่าเรื่องและการวาดภาพคำถามต่อมาก็คือ แล้วเหตุใดหนังสือที่ถูกรัฐบาลถอนทุนสนับสนุน ถึงยังปรากฎอยู่ในร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดกลางถนนออร์ชาร์ดอย่างร้านคิโนะคุนิยะได้?หรือนี่แปลว่ารัฐบาลเองนั้นก็ไม่ได้ขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ของศิลปินในสิงคโปร์ใช่หรือไม่?

คำตอบของคำถามดังกล่าว ผู้เขียนได้รับจากการสัมภาษณ์ดร.เทอร์เรนซ์ ชอง (Dr.Terence Chong)ผู้เชี่ยวชาญจาก Institute of Southeast Asian Studies (ISEAS)ซึ่งทำวิจัยนโยบายวัฒนธรรมในสิงคโปร์มาอย่างต่อเนื่อง

ดร.ชอง ได้เล่าให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ศิลปิน’กับ ‘รัฐบาล’สิงคโปร์อย่างน่าสนใจ ศิลปินในสิงคโปร์ส่วนใหญ่ รวมถึงนักวาดการ์ตูน ได้จะรับการสนับสนุนจากรัฐบาล กล่าวคือรัฐบาลมีทุนให้ศิลปินอย่างไม่ขาดแคลน

อย่างไรก็ตาม การอุดหนุนนี้ ก็ทำให้เกิดผลกระทบตามมา นั่นคือการที่ศิลปินเคยชินกับการพึ่งพาทุนจากรัฐบาลและการพึ่งพิงนี้ก็ส่งผลต่อเนื้อหาของงานศิลปะที่ศิลปินผลิตออกมา

ถึงแม้ปัจจุบัน รัฐบาลจะผ่อนปรนเรื่องการเซนเซอร์เนื้อหาต่างๆมากขึ้น ศิลปินสามารถผลิตเนื้อหาที่วิพากษ์รัฐบาล หรือเนื้อหาที่พูดถึงเพศที่สามได้ ยกเว้นเนื้อหาที่มีการดูหมิ่นเชื้อชาติหรือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์จะห้ามอย่างเด็ดขาด รวมถึงห้ามแสดงในที่สาธารณะ

ทว่า หากศิลปินเลือกที่จะผลิตงานที่ไม่ถูกจริตของทางรัฐบาล รัฐบาลก็มีสิทธิ์ที่จะถอนทุนสนับสนุนเช่นเดียวกันกับที่รัฐบาลถอนทุนที่สนับสนุนซอนนี่ หลิว เจ้าของการ์ตูนเรื่องThe Art of Charlie Chan Hock Chye

ที่มา: https://vulcanpost.com/289801/charlie-chan-hock-chye-sold-out-again/

 

ดร.ชอง ได้วิเคราะห์ว่าถึงแม้การผลิตศิลปะที่มีเนื้อหาวิพากษ์รัฐบาลจะเป็นสิ่งที่พอกระทำได้ แต่ศิลปินสิงคโปร์จำนวนมากซึ่งเคยชินกับการอุดหนุนจากรัฐ ก็มักจะเลี่ยงที่จะผลิตเนื้อหาดังกล่าว จนเลือกที่จะเซนเซอร์ตัวเองเพราะไม่อยากเสี่ยงกับการไม่ได้รับทุนจากรัฐ

ศิลปินบางคนที่ไม่พอใจภาวะเช่นนี้ อาจเลือกไปทำงานต่างประเทศ เพื่อที่จะผลิตงานศิลปะได้โดยไม่มีข้อจำกัด

“แต่เมื่อพวกเขาไปอยู่ประเทศอื่น พวกเขาก็เผชิญกับปัญหาอื่น ประเทศอื่นก็ไม่ได้มีทุนให้อย่างสิงคโปร์ จนบางคนเลือกที่จะกลับมาสิงคโปร์ก็มี” ดร.เทอร์เรนซ์ ชองสรุป

ดังนั้น อาจเรียกได้ว่าการต่อต้านผ่านงานศิลปะในสิงคโปร์เป็นสิ่งที่กระทำได้ในปัจจุบันรัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้ขัดขวางด้วยการเซนเซอร์ แต่ใช้กลไลการให้เงินทุนที่ทำให้ศิลปินมีราคาที่จะต้องจ่ายสำหรับการผลิตงานศิลปะที่ไม่ถูกจริตของฝ่ายรัฐ

แต่สำหรับ ซอนนี่ หลิว หลังจากที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล หนังสือของเขาก็ได้ตีพิมพ์ด้วยทุนจากเอกชน และข่าวการถอนทุนสนับสนุนของรัฐบาลก็ทำให้คนสิงคโปร์จำนวนมากสนใจที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้ จนหนังสือ The Art of Charlie Chan Hock Chyeกลายเป็นหนังสือที่ติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ไปในที่สุด

หนังสือของเขาจึงยังวางตั้งอยู่ในชั้นหนังสือของร้านคิโนะคุนิยะจนถึงทุกวันนี้

 

————————-