โครงการออกแบบและผังแม่บทศูนย์ราชการระดับจังหวัดที่เป็นมาตรฐาน : จังหวัดสุรินทร์

นายคธาทิพย์ เอี่ยมกมลา

ผู้ตรวจราชการกรม รักษาการในตำแหน่งสถาปนิกใหญ่ กรมโยธาธิการและผังเมือง

 

ที่มาโครงการ

รัฐบาล มีนโยบายกระจายความเจริญและบริการของหน่วยงานของรัฐออกสู่ภูมิภาค ทำให้มีการดำเนินการเรื่องศูนย์ราชการที่มีการวางผังแม่บทศูนย์ราชการ เพื่อเป็นการรวบรวมอาคารสถานที่ราชการไว้ใน บริเวณเดียวกัน อันเป็นการสะดวกในการบริการประชาชนในลักษณะเบ็ดเสร็จ (ONE STOP SERVICE) มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาสถานที่ทำงานของหน่วยงานราชการ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๓ เพื่อทำหน้าที่เสนอแนะแนวทางการจัดการทำแผนการใช้ที่ดิน ตลอดจนแนวทางในการกำหนดพื้นที่ของสถานที่ราชการในอนาคต

กระทรวงมหาดไทย โดยคณะกรรมการจัดวางผังแม่บทศูนย์ราชการส่วนภูมิภาคเป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐใน ๔๓ จังหวัด เพื่อการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายสอดคล้องกับนโยบายของรัฐ กระทรวงมหาดไทยโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงได้จัดทำหนังสือหลักการและแนวทางดำเนินการจัดวางผังแม่บทศูนย์ราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการและแนวทางดำเนินงานจัดวางผังแม่บทศูนย์ราชการส่วนภูมิภาค เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๕ ในขณะนั้นได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการร่วมกับคณะกรรมการจัดวางผังแม่บทศูนย์ราชการระดับจังหวัด ออกแบบอาคารสิ่งก่อสร้าง ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่าง ๆ ของศูนย์ราชการตามผังแม่บทที่จัดทำขึ้น พร้อมทั้งประมาณการงบประมาณในการก่อสร้าง โดยประสานกับกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง โดยกองสถาปัตยกรรม กรมโยธาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการออกแบบและจัดทำผังแม่บทศูนย์ราชการระดับจังหวัด ทั้งนี้ได้กำหนดแนวทางการออกแบบในการจัดวางผังแม่บทศูนย์ราชการระดับจังหวัดเป็น ๒ แนวทาง

แนวทางที่ ๑ ในกรณีที่จังหวัดที่ไม่สามารถจัดหาพื้นที่ในการดำเนินการก่อสร้างผังแม่บทศูนย์ราชการระดับจังหวัดแห่งใหม่ได้ ให้ออกแบบต่อเติมศาลากลางจังหวัดสูง ๕ ชั้น หลังใหม่ มีพื้นที่ก่อสร้างประมาณ ๘,๕๐๐ ตารางเมตร เชื่อมต่อกับศาลากลางหลังเดิม เช่นจังหวัดสตูล จังหวัดปัตตานี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดอ่างทอง และจังหวัดสมุทรสาคร

แนวทางที่ ๒ จังหวัดที่สามารถจัดหาพื้นที่ก่อสร้างผังศูนย์ราชการระดับจังหวัดแห่งใหม่ได้ ให้ออกแบบจัดทำ ผังแม่บทศูนย์ราชการที่เป็นแบบศูนย์ราชการจังหวัดทรงจตุรมุขสูง ๔ ชั้น หลังใหม่ พื้นที่ก่อสร้างประมาณ ๑๖,๐๐๐ ตารางเมตร เช่น จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดสระแก้ว จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดหนองคาย

เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม” ได้นำนโยบายการจัดวางผังแม่บท ศูนย์ราชการที่มีอยู่เดิม กลับมาเป็นแนวทางในการจัดทำแผนการพัฒนาปรับปรุงแบบศูนย์ราชการ ให้เป็นแบบการจัดวางผังแม่บทศูนย์ราชการ หอประชุม และอาคารประกอบต่าง ๆ ภายในศูนย์ที่เป็นแบบมาตรฐาน และได้นำมา ใช้ในการออกแบบ จัดทำผังแม่บทศูนย์ราชการจังหวัดสุรินทร์ จังหวัดลำพูน และจังหวัดนราธิวาส

กระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งที่ ๙๗๑/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๙ เรื่องแต่งตั้งคณะทำงาน กำหนดกรอบวงเงินงบประมาณค่าก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดแบบบูรณาการ เพื่อให้การกำหนดกรอบเงินงบประมาณค่าก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัด มีองค์ประกอบครบถ้วนสมบูรณ์ตามงบประมาณแผ่นดินที่มีจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คุ้มค่า บรรลุเป้าหมายของกระทรวงมหาดไทย เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้มีคำสั่งที่ ๒๙๘๓/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ แต่งตั้งคณะทำงานเตรียมการจัดทำแบบศูนย์ราชการจังหวัดที่เป็นมาตรฐานเพื่อดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และบรรลุวัตถุประสงค์ คณะทำงานฯ ได้ดำเนินการจัดทำแบบศูนย์ราชการจังหวัดที่เป็นมาตรฐาน ประกอบไปด้วย ศูนย์ราชการหลัก ศูนย์ราชการรอง ศูนย์บ้านพัก งานผังบริเวณและภูมิทัศน์

ภาพที่ ๑ ผังบริเวณศาลากลางจังหวัดสุรินทร์

ที่ตั้งโครงการ

ทางหลวงหมายเลข ๒๙๓ ตำบลนอกเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์(ตรงข้ามศูนย์ศิลปาชีพอีสานใต้) พื้นที่ ๑,๒๒๘ ไร่

วัตถุประสงค์โครงการ

ก่อสร้างอาคารศูนย์ราชการจังหวัดสุรินทร์เป็นอาคารทรงจตุรมุข โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ความสูง ๔ ชั้น พื้นที่ก่อสร้างประมาณ ๑๖,๐๐๐ ตารางเมตร นอกจากการก่อสร้างอาคารศูนย์ราชการจังหวัดสุรินทร์แล้ว ยังมีส่วนประกอบอื่นที่สำคัญในการดำเนินการงานผังแม่บทและภูมิสถาปัตยกรรมประกอบด้วย งานถนน ลานอนุสาวรีย์พระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ พร้อมฐาน ป้ายชื่อศูนย์ราชการ รั้ว ป้อมยาม รวมถึงงานระบบไฟฟ้าและระบบสุขาภิบาลภายในบริเวณโครงการ

งบประมาณโครงการ : งบประมาณค่าก่อสร้าง ๔๓๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท

ระยะเวลาดำเนินการ : ด้านงานออกแบบ ๑๘๐ วัน และ ด้านงานก่อสร้าง ๙๐๐ วัน

ขั้นตอนในการดำเนินงาน

๑. ด้านการปฏิบัติการ

.๑ อำนวยการออกแบบงานสถาปัตยกรรมและงานวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง

ในฐานะผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรมในขณะนั้น ได้อำนวยการ วางแผน ให้คำปรึกษา กำกับดูแล ประสานงานเกี่ยวกับงานออกแบบก่อสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานวิศวกรรมโครงสร้างและงานระบบ งานผังแม่บท ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ประมาณการด้านราคาค่าก่อสร้าง จัดทำผังแม่บทผังศูนย์ราชการภูมิภาคให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ให้มีองค์ประกอบครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นไปตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพที่ ๒ ทัศนียภาพภายนอกอาคาร

ภาพที่ ๓ ทัศนียภาพภายในคอร์ทอาคาร

.๒ การออกแบบงานสถาปัตยกรรม

๑.๒.๑ ขั้นตอนการจัดเตรียมข้อมูลรายละเอียดและการสำรวจโครงการเพื่อการออกแบบ

– ติดต่อประสานข้อมูลการใช้พื้นที่ภายในอาคารจากสำนักงานจังหวัดสุรินทร์ในการจัดทำศูนย์ราชการจังหวัดสุรินทร์

– สำรวจพื้นที่ รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน เพื่อใช้ในการวางแผนและกำหนดแนวทางออกแบบ

๑.๒.๒ ขั้นตอนการออกแบบเบื้องต้นและการพัฒนาแบบงานสถาปัตยกรรม

– ให้คำปรึกษา แนะนำ ในการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน เพื่อให้ได้แนวความคิดในการออกแบบพื้นที่ใช้สอย และจัดวางผังและแนวอาคารให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม

– เป็นผู้กำหนดแนวความคิดในการออกแบบผังแม่บทศูนย์ราชการ

– แนวความคิดในการออกแบบงานสถาปัตยกรรม อาคารต้องแสดงถึงความมีอัตลักษณ์และมีการผสมผสานระหว่างอาคารสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์ มีการออกแบบการใช้พื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามความต้องการของผู้ขอใช้พื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ง่ายต่อการใช้งานและบำรุงรักษา มีการออกแบบที่คำนึงถึงการใช้งบประมาณแผ่นดินที่มีจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คุ้มค่า บรรลุเป้าหมายของกระทรวงมหาดไทย

– ดำเนินการออกแบบและพัฒนาแบบสถาปัตยกรรมพร้อมจัดทำแบบร่างขั้นสุดท้ายทางสถาปัตยกรรม เพื่อเสนอคณะกรรมการจัดวางผังศูนย์แม่บทระดับจังหวัดพิจารณา

๑.๒.๓ ขั้นตอนการเขียนแบบก่อสร้างงานสถาปัตยกรรม

– ตรวจสอบรายละเอียดแบบก่อสร้างงานสถาปัตยกรรม งานวิศวกรรมโครงสร้างและงานระบบ ให้ถูกต้องเป็นไปตามหลักวิชาช่าง เพื่อความเหมาะสมในการใช้งานอาคาร

– เร่งรัด ติดตามและรวบรวมแบบก่อสร้างงานสถาปัตยกรรมและงานวิศวกรรมโครงสร้างและงานระบบพร้อมงานประมาณราคา รวมถึงจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้หน่วยงานเจ้าของเรื่อง เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป

ภาพที่ ๔ ทัศนียภาพโถงทางเดินภายในอาคาร

ภาพที่ ๕ ทัศนียภาพทางเดินภายในอาคาร

๒. ด้านการวางแผน

.๑ การวางแผนงานและบริหารด้านการออกแบบงานสถาปัตยกรรม

อาคารศูนย์ราชการจังหวัดสุรินทร์เป็นสถานที่ตั้งทำการของหน่วยงานราชการหลายภาคส่วน จึงต้องมีการกำหนดแผนงานและกรอบระยะเวลาร่วมกับเจ้าของโครงการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินการสำรวจความต้องการพื้นที่ใช้สอยและความเชื่อมโยงกิจกรรมของหน่วยงานที่สัมพันธ์กัน การสำรวจขอบเขตพื้นที่โครงการ นอกจากนี้ยังต้องทราบแผนงานในอนาคตของกรมทางหลวง กรมชลประทาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการประปาส่วนภูมิภาค โดยรวบรวมข้อมูลดังกล่าวเพื่อนำไปใช้ในการออกงานสถาปัตยกรรมแบบต่อไป

– หน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานจังหวัดสุรินทร์ได้ร่วมกำหนดวางแผนงานในการจัดทำแบบเพื่อเสนอในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการภายในจังหวัดสุรินทร์, สำนักงานที่ดินจังหวัดสุรินทร์ได้ร่วมกับสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุรินทร์ ในการจัดทำแบบสำรวจขอบเขตพื้นที่ก่อสร้างโครงการและสำรวจสภาพพื้นที่เดิมเพื่อนำไปใช้ในการวางผังโครงการ

– สำนักสถาปัตยกรรม มีการวางแผนในการกำหนดนโยบาย แผนงาน งบประมาณ และกรอบระยะเวลา ในขั้นตอนการออกแบบงานสถาปัตยกรรมให้สอดคล้องกับแผนดำเนินการรวมของโครงการ สำหรับอาคารศูนย์ราชการจังหวัดสุรินทร์ได้มีความต้องการพิเศษในเรื่องของห้องประชุมที่มีหลายขนาดและหลายห้อง เพื่อรองรับการประชุมในช่วงเวลาเดียวกัน ตามความเหมาะสมกับจำนวนผู้เข้าประชุม โดยมีห้องประชุมส่วนกลางที่สามารถรองรับผู้ประชุมตั้งแต่ ๑๐ – ๒๕๐ คน รวมถึงจัดให้มีห้องประชุมย่อยของแต่ละหน่วยงาน นอกจากนี้ผู้ออกแบบจะต้องจัดเตรียมพื้นที่สำหรับรองรับงานวิศวกรรมระบบเพื่อความพร้อมในการใช้อาคาร อาทิ ห้องเครื่องงานระบบไฟฟ้า ห้องปั๊มน้ำ เพื่อความพร้อมในการใช้งานและบำรุงรักษาอาคาร

.๒ การวางแผนและบริหารด้านการออกแบบงานก่อสร้างโครงการ (วิศวกรรมโครงสร้าง
งานระบบ สาธารณูปโภค สาธารณูปการ และประมาณการด้านราคาค่าก่อสร้าง)

– ประสานกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุรินทร์ดำเนินการสำรวจพื้นที่และหาข้อมูลชั้นดินเพื่อใช้อ้างอิงในการออกแบบความยาวเสาเข็ม, กรมทางหลวงดำเนินการเชื่อมต่อถนนโครงการกับถนนทางหลวงหมายเลข ๙๒๓ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการประปาส่วนภูมิภาคได้ร่วมกำหนดตำแหน่งที่เหมาะสมในการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าและระบบสุขาภิบาลจากภายในโครงการ
– สำนักวิศวกรรมโครงสร้างและงานระบบ ผู้ออกแบบได้ร่วมวางแผนในการออกแบบงานวิศวกรรม อาทิ ห้องประชุมใหญ่ที่ผู้ออกแบบต้องการให้เป็นห้องโล่ง ไม่มีโครงสร้างเสาภายในห้องตลอดความกว้าง ๑๓ เมตร ตลอดความยาว ๕๐ เมตร ซึ่งงานวิศวกรรมโครงสร้างจะต้องออกแบบเสาและพื้นบริเวณห้องประชุมใหญ่ให้มีขนาดและความแข็งแรงพิเศษกว่าพื้นที่ส่วนอื่น การเตรียมพื้นที่ใช้สอยรองรับงานวิศวกรรมระบบ

– กองมาตรฐานราคากลาง ดำเนินการประมาณราคาค่าก่อสร้างตามแบบก่อสร้างงานสถาปัตยกรรม งานวิศวกรรมโครงสร้างและงานระบบ ร่วมถึงค่าใช้จ่ายพิเศษที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้าง จัดทำเป็นราคากลางเพื่อให้เจ้าของโครงการนำไปดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป

๓. ด้านการประสานงาน

– ประสานกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานจังหวัดสุรินทร์ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุรินทร์ กรมทางหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค ในการจัดเตรียมข้อมูลที่สำคัญภายในพื้นที่ อาทิ แผนงานการของบประมาณประจำปี กรอบระยะเวลาดำเนินการจัดทำแบบก่อสร้าง เพื่อใช้ในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมและงานวิศวกรรมโครงสร้างและงานระบบของกรมโยธาธิการและผังเมือง และเป็นข้อมูลในการเตรียมการก่อสร้างในอนาคต

– ประสานกับหน่วยงานภายในกรมโยธาธิการและผังเมือง(ส่วนกลาง) ประกอบด้วยสำนักวิศวกรรมโครงสร้างและงานระบบ กองมาตรฐานราคากลาง ดำเนินการเร่งรัดติดตามงานด้านการออกแบบให้มีความสอดคล้องกับงานด้านวิศวกรรมโครงสร้างและงานระบบ ตลอดจนการประมาณราคาค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิผล

ภาพที่ ๖ ทัศนียภาพภูมิสถาปัตยกรรมภายในคอร์ท

ภาพที่ ๗ ทัศนียภาพภูมิสถาปัตยกรรมโครงการ

ลักษณะที่แสดงถึงความยุ่งยากของงาน

ด้านการปฏิบัติการ

– มีความยุ่งยากในการสรุปข้อมูล ในการออกแบบและวางผังจากผู้ใช้ เนื่องจากการใช้พื้นที่ในศูนย์ราชการประกอบไปด้วยหลายหน่วยงาน มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามภารกิจและหน้าที่ที่ต่างกัน มีการปรับเปลี่ยนการใช้งานตามความต้องการของบุคคลมากกว่าหน่วยงาน ทำให้มีการปรับแก้รายละเอียดของแบบ
– สภาพพื้นที่ของโครงการเป็นลักษณะที่มีขนาดใหญ่ จำเป็นต้องมีการสำรวจพื้นที่ เพื่อจัดทำผังค่าระดับที่ถูกต้อง เพื่อประกอบการวิเคราะห์ ความเหมาะสม ปัญหา อุปสรรคของพื้นที่ ในการนำไปใช้เป็นข้อมูลการวางผังอาคารให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม

– การที่ไม่มีการกำหนดให้มีการสำรวจชั้นดินของพื้นที่ในขั้นตอนการออกแบบ เมื่อมีการก่อสร้างจริงทำให้พบว่าสภาพชั้นดินไม่เป็นไปตามสภาพที่ควรจะเป็นทำให้ต้องมีการปรับแก้ไขแบบและราคาในการก่อสร้าง

– การที่ผู้ใช้ปรับเปลี่ยนแบบงานสถาปัตยกรรมไปจากแบบมาตรฐานเดิม ทำให้ต้องมีการปรับแก้ไขแบบวิศวกรรมโครงสร้างและงานระบบใหม่ เป็นผลให้เกิดการใช้เวลาในการออกแบบและจัดทำราคาประมาณการใหม

ด้านการวางแผน

การกำหนดขั้นตอนการทำงานออกแบบร่วมกับวิศวกรโครงสร้างและระบบที่เกี่ยวข้อง เพื่อมอบหมายงานและขอบเขตความรับผิดชอบที่แต่ละหน่วยงานจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายใต้งบประมาณและกรอบระยะเวลาของโครงการ

ด้านการประสานงาน

– เนื่องจากอาคารศูนย์ราชการเป็นอาคารที่มีผู้ใช้งานหลายหน่วยงาน ทั้งในระดับกระทรวง ทบวง และกรม โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ จึงต้องประสานข้อมูลจำนวนบุคลากรของทุกหน่วยงานและข้อมูลความต้องการพื้นที่ใช้สอย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบอาคารให้ถูกต้อง ครบถ้วน ตามความต้องการของผู้ใช้งานและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

– การดำเนินการออกแบบและผังแม่บทศูนย์ราชการระดับจังหวัดที่เป็นมาตรฐานนั้น มิใช่มีเพียงหน่วยงานออกแบบของกรมโยธาธิการและผังเมืองเท่านั้น ยังต้องประสานงานออกแบบร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค เป็นต้น

ด้านการบริหาร

– ติดตามและกำกับการดำเนินงานออกแบบสถาปัตยกรรม วิศวกรรมโครงสร้างและงานระบบ และประมาณราคา ให้ดำเนินการเป็นไปตามแผนงาน งบประมาณ และกรอบระยะเวลาในการประกาศจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

– ติดตามและกำกับการงานก่อสร้างให้เป็นตามแบบคู่สัญญา แผนงาน งบประมาณ และกรอบระยะเวลา

ปัจจุบันอาคารศูนย์ราชการจังหวัดสุรินทร์ได้เปิดให้บริการแก่ประชาชนแล้ว ในขณะเดียวกันก็ตอบสนองการบริหารราชการภาครัฐ โดยเป็นศูนย์กลางในการบริการประชาชนแบบ ONE STOP SERVICE ทำให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชน ข้าราชการจากหน่วยงานราชการต่างๆ ภายในจังหวัดสุรินทร์สามารถติดต่อประสานงานได้อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ